“คิงเพาเวอร์” เปิดคืนภาษีในเมือง สรรพากรต่อยอดใช้บล็อกเชน-ดีเดย์ ต.ค.นี้

สรรพากรดีเดย์ ต.ค.นี้นำร่องใช้ “บล็อกเชน” คืนภาษีนักท่องเที่ยว ดึง “กรมศุลฯ-ตม.-ร้านค้า” นำร่องทดสอบระบบ ต่อยอดกลุ่มตัวแทนดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ที่จะสิ้นสุดทดสอบระบบ 30 ก.ย.นี้ เผยล่าสุด “คิง เพาเวอร์ฯ” ได้รับอนุมัติเปิดบริการคืนแวตในเมืองแล้ว 3 จุด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน ต.ค.นี้ กรมสรรพากรจะเปิดตัวโครงการทดสอบนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) มาใช้ในกระบวนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แก่นักท่องเที่ยว โดยจะครอบคลุมทั้งการคืนภาษีที่สนามบินและการคืนภาษีในเมือง ซึ่งการนำบล็อกเชนมาใช้ดังกล่าวจะทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการโกงภาษี และสามารถคืนภาษีได้เร็วขึ้นด้วย

“กำหนดการที่วางไว้คือ เริ่มเดือน ต.ค.นี้ โดยการคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมืองที่อยู่ในสนามทดสอบ (แซนด์บ็อกซ์) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2562 นี้ จะสามารถเชื่อมต่อกันได้กับโครงการบล็อกเชน” นายเอกนิติกล่าว

โดยการทดสอบระบบบล็อกเชนจะมีการดึงหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วม อาทิ กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และร้านค้าที่จะมานำร่องทดสอบระบบ ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลในระบบทั้งหมด ว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยมีการซื้อขายสินค้ากับใครบ้าง ทำให้ไม่ต้องเก็บข้อมูลเป็นกระดาษ รวมถึงไม่ต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประทับตรารับรองทีละหน่วยงาน

นายเอกนิติกล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมสรรพากรพยายามเปิดให้บริษัทสตาร์ตอัพต่าง ๆ สามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่น “Application Programming Interface : API) มาร่วมให้บริการผู้เสียภาษี (service provider) ได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำในส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว โดยมีบริษัท ไอแท็กซ์ อินคอเปอร์เรชั่น (iTAX Inc.) เป็นรายแรกที่เข้ามานำร่องสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ผ่าน “RD Smart Tax Application” บนสมาร์ทโฟน

ขณะที่ล่าสุดได้ขยายสู่อากรแสตมป์โดยมีบริษัท ฟินเน็ต อินโนเวชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด (FinNet) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดให้บริการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp) เป็นรายแรก และกำลังขยายไปสู่ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้กำลังพัฒนาระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) และระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding tax) ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับสถาบันการเงิน

“การที่เป็นระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากจะทำให้ต้นทุนลดลงแล้ว ยังจะทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศดีขึ้นด้วย” นายเอกนิติกล่าว

รายงานจากกรมสรรพากรแจ้งว่า การให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourists) ที่เริ่มโครงการทดสอบระบบ มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 และปัจจุบันได้ขยายเวลาการสิ้นสุดโครงการไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562 นั้น ข้อมูลล่าสุดจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการขอคืนภาษีในเมืองแล้วทั้งสิ้น 7,953 ราย เป็นมูลค่ายอดซื้อสินค้า (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จำนวน 147,772,099 บาท ซึ่งแยกเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวน 9,667,333 บาท ส่วนเม็ดเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่นักท่องเที่ยวได้รับคืนจากการขอคืนอยู่ที่จำนวน 4,352,164 บาท

ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการขอคืนภาษี สูงสุด 3 ลำดับแรก คือ จีน สิงคโปร์ และไต้หวัน ส่วนจุดบริการที่นักท่องเที่ยวใช้บริการสูงสุด ได้แก่ สาขาสยามพารากอน

“ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 จนถึงปัจจุบัน มีตัวแทนให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมืองแล้วทั้งสิ้น 5 ราย โดยมีจุดให้บริการคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมืองแล้วทั้งสิ้น 18 จุด ซึ่งรายล่าสุดคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา และปัจจุบันได้เปิดให้บริการ 3 จุดด้วยกัน คือ ซอยรางน้ำ ตึกกรุงเทพมหานคร และคิง เพาเวอร์ บางพลี ขณะที่บริษัท มันนี่ แวลู มีขอเปิดจุดบริการเพิ่มที่ถนนพระราม 6 อีก 1 จุด จากเดิมเปิดแล้ว 1 จุด ที่สาขาบริลเลี่ยนท์ เจมส์ เซ็นเตอร์ ถนนสวรรคโลก” รายงานข่าวระบุ