ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ สภาพัฒน์เผยตัวเลข GDP ไตรมาส 2 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/8) ที่ระดับ 30.85/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 30.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดเผยว่า ตนไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญที่จะเผชิญภาวะถดถอย แม้ตลาดพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวอย่างผันผวน พร้อมยืนยันว่า ข้อพิพาททางการค้ากับจีนนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสหรัฐ ด้านนายแลร์รี่ คุดโลว์ หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ก็ได้แสดงความคิดเห็นในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐไม่มีความเสี่ยงที่จะถดถอย ส่วนในเรื่องการเจรจาการค้ากับจีนนั้น ตัวแทนการค้าจากทั้งสองประเทศจะมีการหารือในอีก 10 วันข้างหน้า และหากการเจรจาดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดีแล้ว ตนก็จะเชิญผู้แทนประเทศจีนมาที่สหรัฐ เพื่อเจรจาต่ออีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป

นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ โดยนักลงทุนคาดว่า นายพาวเวลจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ อีกทั้งยังจับตารายงานการประชุมประจำเดือน ก.ค.ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ หลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ทั้งนี้ระหวางวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.85-30.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.85/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 2.3% จากตลาดคาด 2.1-2.5% ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจขยายตัว 2.6% ทั้งนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงหลายด้านทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 62 เริ่มเห็นแนวโน้มถูกผลกระทบจากหลายปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ทั้งจากเศรษฐกิจโลก มาตรการกีดกันทางการค้า ความผันผวนในตลาดเงิน รวมถึงปัจจัยในประเทศเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (19/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1088/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 1.1083/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยแหล่งข่าวของเยอรมนีรายงานว่า รัฐบาลผสมของเยอรมนีเต็มใจที่จะระงับการใช้กฎงบประมาณสมดุลและจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนี และหลีกเลี่ยงจากการเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1088-1.1111 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1106/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (19/8) เปิดตลาดที่ระดับ 106.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 106.44/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมีรยอดขาดดุลการค้าเดือน ก.ค.ที่ระดับ 2.496 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนยอดส่งออกในเดือน ก.ค.ลดลง 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าเดือน ก.ค.ลดลง 1.2% ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.25-106.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.55/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ค. (21/8) คณะกรรมการกำหนดนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เผยรายงานการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. (21/8) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (22/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคผลิตและบริการขั้นต้นเดือน ส.ค. จากมาร์กิต (22/8) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ค. จาก Conference Board (22/8) ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค. (23/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.5/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.5/+5.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ