บาทแข็งค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (21/10) ที่ระดับ 30.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ 30.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแกว่งตัวผันผวนในกรอบแคบ ท่ามกลางข่าวดีในประเด็นเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ โดยนายชัวราบห์ กุปตา นักวิชาการอาวุโสประจำสถาบันการศึกษาจีน-สหรัฐ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชินหัวว่า การประชุมเจรจาทางการค้าระหว่างสองประเทศรอบล่าสุดในวันที่ 10-11 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น มีความคืบหน้าอย่างมากในหลายประเด็น เช่น การเกษตร การคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และการถ่ายโอนเทคโนโลยี เป็นต้น โดยนายกุปตาได้กล่าวย้ำถึงการที่จีนเดินหน้าเปิดกว้างในภาคการเงินมากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัทบริการด้านการเงินของจีนอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่ได้เปิดเผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไอเอชเอส มาร์กิต ได้เปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ประจำเดือนตุลาคม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน หลังจากอยู่ที่ระดับ 5.0 ในเดือนกันยายน และสำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ก็ได้ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 51.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 51.1 ในเดือนกันยายน เช่นกัน พร้อมทั้งเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้มีการเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐประจำเดือนกันยายน ได้ปรับตัวลดลง 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ระดับ 0.5% และสำหรับยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ ได้ปรับตัวลดลง 0.3% ในเดือนกันยายน ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ระดับ 0.2%

แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังจับตาดูการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอาทิตย์หน้าในวันที่ 29 และ 30 ตุลาคม โดย Fed Watch tool ของ CME Group ซึ่งเป็นมาตรวัดความน่าจะเป็นในการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสถึงร้อยละ 94.6 ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมที่กำลังจะจัดขึ้น

และสำหรับปัจจัยในประเทศของไทย เมื่อวันจันทร์ (21/10) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกันยายน โดยตัวเลขการส่งออกมีมูลค่า 20,481.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -1.39% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,206.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -4.24% โดยส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,275.2 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมทั้งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้มีการประเมินว่าในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2562 การส่งออกของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบใกล้เคียงระดับ 1% โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 การส่งออกจะขยายตัวได้ 0.1% ซึ่งปัจจัยที่ยังมีความท้าทายต่อการส่งออกไทยในปีนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวจากปัจจัยเสี่ยงที่มาจากความผันผวนในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.17-30.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ 30.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่เางินยูโรเปิดตลาดวันอังคาร (21/10) ที่ระดับ 1.1155/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ 1.1130/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ (Brexit) โดยในช่วงกลางสัปดาห์ สมาชิกสภาล่างของอังกฤษได้ลงมติไม่เห็นชอบต่อกำหนดการในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit โดยกำหนดการดังกล่าวได้ให้เวลารัฐบาลเพียง 3 วันในการพิจารณา ซึ่งส่งผลให้ทางสหภาพยุโรปจะต้องพิจารณาการขยายเส้นตาย Brexit ออกไปจากเส้นตายเดิมในวันที่ 31 ตุลาคม ถึงแม้ว่าเมื่อคืนวันพุธ (23/10) สมาชิกสภาล่างของอังกฤษได้ลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ผู้แทนของสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการเตรียมหารือในประเด็นระยะเวลาของการขยายเส้นตายการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่จะมีการนำเสนอต่ออังกฤษ ในขณะที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เรียกร้องให้รัฐสภาอังกฤษจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ โดยนายจอห์นสันยอมรับเป็นครั้งแรกว่า เขาไม่สามารถที่จะทำตามกำหนดเส้นตายเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ตุลาคม ตามที่ตั้งใจได้ พร้อมทั้งนายจอห์นสันได้ระบุว่า จะให้เวลารัฐสภามากขึ้นในการอภิปรายข้อตกลง Brexit หากรัฐสภาให้การสนับสนุนการเลือกตั้งวันที่ 12 ธันวาคมนี้

ทั้งนี้เมื่อคืนวันพฤหัสบดี (24/10) ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินที่ผ่านมา โดยคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0.0% พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% นอกจากนี้ ECB ระบุว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปหรือปรับลดลง จนกว่าจะมีสัญญาณบ่งชี้การปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ECB ย้ำว่าจะรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนพฤศจิกายน โดย ECB จะซื้อพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน และจะดำเนินโครงการ QE เป็นระยะเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1091-1.1179 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ 1.1120/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (21/10) ที่ระดับ 108.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรับ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตาดเมื่อวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ  108.60/62 เยน/ดอลลาร์ ทั้งนี้ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จากความไม่แน่นอนตลาด โดยนักลงทุนยังคงจับตาดูการประชุมนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ในสัปดา์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 108.23-108.72 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ 108.59/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ