10 เดือนต่างชาติเทขายหุ้นไทย 1.6 หมื่นล. ลุ้น 3 ปัจจัยแรงส่งตลาดปลายปีพุ่ง 

แฟ้มภาพ

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 พ.ย.2562) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอยู่ที่ -541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) คิดเป็น 0.09% ของมาร์เก็ตแคป ซึ่งหากพิจารณาในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมานั้นมีฟันด์โฟลว์ไหลออก -258 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 7.9 พันล้านบาท) ทำให้ภาพการไหลออกของเงินตราต่างประเทศอาจจะยังไม่ได้เป็นสัดส่วนที่น่ากังวล ซึ่งเป็นไปตามฟันด์โฟลว์ไหลออกในภูมิภาค

โดยดัชนีหุ้นไทยค่อนข้างเคลื่อนไหวตามภูมิภาค เพราะปัจจัยส่วนใหญ่มาจากภายนอก ณ สิ้นเดือน ต.ค.62 ปรับลดลงเล็กน้อยปิดที่ 1,601.49 จุด ลดลง 2.2% จากเดือนก่อนหน้า แต่ปรับเพิ่มขึ้น 2.4% จากสิ้นปี 2561 ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทน (รีเทริ์น) เป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค หรือเพิ่มขึ้นที่ 10.4% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ความไม่ชัดเจนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป แม้ว่าจะมีความหวังมากขึ้น แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พ.ย.ทาง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ มีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

อย่างไรก็ดี หากเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคแล้วจะพบว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ส่วนใหญ่ฟันด์โฟลว์ก็ต่างไหลออกเช่นกัน จะมีแค่บางประเทศที่ซื้อสุทธิ เช่น ไต้หวัน ที่มีปัจจัยเฉพาะจากต้นปีดัชนี (Index) ปรับขึ้นกว่า 10% ซึ่งค่อนข้างปรับขึ้นต่อเนื่อง 4-5 ปีมาแล้ว ส่วนอินเดียเนื่องจากได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งมีการระงับนโยบายต่างๆ ก็ทำให้เงินเริ่มไหลเข้า

“ฟันด์โฟลว์ไหลออกในตลาดหุ้นยังน้อยมากเมื่อเทียบกับบอนด์ โดยเฉพาะพันธบัตร ธปท.และพนัธบัตรรัฐบาล ฉะนั้นอย่างน้อยในช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งไม่ได้มาจากพอร์ตฟอริโอโฟลว์” นายศรพลกล่าว

ส่วนมูลค่าการซื้อขายในเดือน ต.ค.ถือว่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรก โดยเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 1,696 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 52,059 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมีวอลุ่มเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนโดยเดือนที่ผ่านมามีบริษัท แอสเสท เวิล์ด คอร์ป (AWC) เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ส่งผลให้มูลค่าการระดมทุน (IPO) อยู่ที่ 1,412 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท สำหรับในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าการระดมทุนในตลาดแรก (IPO) ของไทยอยู่ที่ระดับ 67,071 ล้านบาท หากเทียบตั้งแต่ปี 2014-สิ้น ต.ค.62 มีบริษัทเข้ามาระดมทุน 17,045 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.17 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าสิงคโปร์เกือบ 2 เท่า

นายศรพล กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังได้รับความน่าสนใจ เนื่องจากยังมีปัจจัยช่วยหนุนหลายด้าน ทั้งจากแรงซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่คาดว่าจะเห็นเงินไหลเข้ามาได้สัก 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีเม็ดเงินก้อนนี้คงจะขึ้นอยู่กับไทม์มิ่ง เนื่องจากผู้ลงทุนบางรายก็เลือกที่จะซื้อในวันสุดท้าย เพราะฉะนั้นต้องรอติดตามว่าเงินจะเข้ามากระจุกตัวอยู่ในช่วงไหน ทั้งนี้แรงซื้อ LTF-RMF ในทุกๆ ปีจะมีเม็ดเงินประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งปีนี้ตั้งแต่ต้นปีก็มีการซื้อเข้ามาได้ระดับหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัจจัย MSCI ที่มีการปรับเพิ่มหุ้นเข้าคำนวณดัชนีเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลประกาศวันที่ 26 พ.ย.นี้

ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือการตัวเลขเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวและส่งออกจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไฮซีซั่น โดยการส่งออกจะมีวงจร(Cycle) ช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ที่ทำให้ผู้ประกอบการจะเร่งส่งออกช่วงเดือน พ.ย. โดยฉพาะสินค้าจำพวกอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างไรก็ตามปีนี้อาจจะพิเศษกว่าทุกปีที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ มีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

“ข้อพิพาทการค้าดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่ก็ยังไม่จบปัญหา ซึ่งในปีหน้าจะเป็นปีเลือกตั้งใหม่ของสหรัฐ ซึ่งอาจจะจบ แต่จะจบช่วงไหนคงจะขึ้นอยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละประเทศ จึงถือเป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตามต่อในปีหน้า” นายศรพลกล่าว