ธ.ก.ส.ออกสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 5 หมื่นล้านบาท ดบ. 0.01% ต่อปี หนุนชุมชนเข้าถึงแหล่งทุน

ธ.ก.ส.ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าสร้างธุรกิจชุมชน โชว์ 2 โมเดล แก้ไขปัญหาความยากจนและระบบเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง พร้อมสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยในงานเสวนา หัวข้อ “หัวใจเศรษฐกิจไทยยุคใหม่” ว่า ธ.ก.ส. ได้ทำโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมการผลิต กิจกรรมขายผลผลิต กิจกรรมการซื้อและบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนที่เริ่มจากการค้นหาและศึกษาความต้องการของชุมชน ทั้งโอกาส ศักยภาพ ปัญหา แนวทางพัฒนาและแก้ไข

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการอำนวยสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 – 30 พฤศจิกายน 2565 สนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่คนในชุมชน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าการผลิต อุตสาหกรรม และบริการต่าง ๆ หนุนสร้าง Smart Farmer ผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผู้ประกอบการหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาใกล้บ้านท่าน

ธ.ก.ส.พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาชนบทสู่ความยั่งยืนให้กับเกษตรกรลูกค้าจำนวน 6.17 ล้านครัวเรือน สมาชิกกลุ่มเกษตรกร 396,165 กลุ่ม ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร 442,887 ราย หัวขบวนในการขับเคลื่อน ธุรกิจ SME เกษตร 10,235 ราย ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง 7,927 ชุมชน ศูนย์เรียนรู้ 315 แห่ง ชุมชนท่องเที่ยว 57 ชุมชน

และพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนนำร่อง 77 แห่ง โดยมุ่งเน้นพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม (กลุ่มการผลิต

กลุ่มบริการและกลุ่มรวบรวม) ด้านท่องเที่ยว (กลุ่มที่พักโฮมสเตย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มนำเที่ยวและขนส่ง

กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน) และด้านอุตสาหกรรม (กลุ่มแปรรูปและกลุ่ม Logistics) โดยตั้งเป้าขยายผลได้ 928 ชุมชน ภายในสิ้นปี 2562 เป็น 9,000 ชุมชนภายในปี 2565

นายอภิรมย์ ได้นำเสนอโมเดลการพัฒนาธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพ 2 โมเดล ได้แก่ ชุมชนหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่ทำการเกษตร 28,346 ไร่ ศักยภาพของชุมชน แห่งนี้ คือ มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีภูตะวันออร์แกนิคฟาร์มทำหน้าที่เป็นหัวขบวน

ชุมชนหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ต้นแบบชุมชนอุดมสุข ที่พัฒนารูปแบบความรู้ร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพัฒนาอ้อยอินทรีย์ การใช้ประโยชน์จากใบอ้อยสู่อุตสาหกรรมพลังงาน การใช้เทคโนโลยีโดรน พร้อมขยายช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร ผ่านระบบ A-Farmart พัฒนาสถาบันการเงินประชาชน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว