บี้แบงก์ส่งแผนปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ

ค่าเงินบาท
แฟ้มภาพ

ธปท.จี้แบงก์ “รัฐ-เอกชน” ส่งแผนปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายย่อย “อย่างรับผิดชอบ” ภายในไตรมาสแรกปีนี้ ส่องวิธีคิด DSR แต่ละแบงก์-หวังสร้างมาตรฐานเดียวกัน ฟากแบงก์ขานรับพร้อมส่งข้อมูล

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปีนี้ ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) จะต้องส่งแผนการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย รองรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) ให้ ธปท. โดยเรื่องสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (DSR) จะเป็นส่วนหนึ่งในแผนนี้ ซึ่งตั้งแต่กลางปี 2562 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ตกลงกับแบงก์ให้นิยาม DSR ไปในทิศทางเดียวกัน และเริ่มให้มีการส่งข้อมูล DSR มาให้ ธปท.พิจารณา ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562 เพื่อดูการคิด DSR ของแต่ละธนาคาร ซึ่งหากแบงก์ใดสูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งระบบ ก็อาจจะต้องปรับปรุงต่อไป

“ตอนนี้ เรามีการหารือรายธนาคาร โดยนอกจากดูความสามารถการชำระหนี้แล้ว อาจจะต้องดูว่าลูกหนี้มีเงินเหลือต่อการใช้ชีวิตหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่แบงก์จะต้องคำนึงถึงนอกจากความเสี่ยงทางเครดิต หรือหากดูแล้วธนาคารที่มี DSR สูงกว่าแบงก์อื่น ๆ แต่เขามีมาตรการดูแลลูกหนี้ภายใต้เงื่อนไขอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ ซึ่งเราขอเวลาดูวิธีที่แบงก์คำนวณออกมาว่าใครสูง ใครต่ำกว่าระบบ และเราจึงจะมาปรับแก้ ตรงไหนเปราะบาง โดยตอนนี้ ธปท.ยังไม่ได้มีเกณฑ์กำหนด DSR ว่าเท่าไร แต่เราติดตามใกล้ชิด” นายรณดลกล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบตามที่ ธปท. ให้ธนาคารกลับมาจัดทำ แต่อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อ ธนาคารจะพิจารณา DSR อยู่แล้ว เพื่อให้ลูกค้ามีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพ

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตอนนี้ DSR ของธนาคารแต่ละแห่งใช้ไม่เท่ากัน ซึ่ง ธปท.ต้องการให้แบงก์รายงาน เพื่อดูว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งการปล่อยสินเชื่อเป็นอย่างไร เพราะแต่ละประเภทสินเชื่อ ก็คิดไม่เหมือนกัน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อเช่าซื้อ เฉลี่ยไม่ควรเกิน 40% หรือถ้ารวมสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ภาระหนี้ก็ไม่ควรเกิน 2 ใน 3 ของรายได้ผู้กู้ ซึ่ง DSR จะสูงหรือต่ำจะขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้กู้เป็นหลัก

“การคำนวณ DSR อาจจะพูดยาก เพราะทุกธนาคารมีสูตรคำนวณแตกต่างกัน แต่ทุกคนจะดูถึงศักยภาพของลูกค้า เพราะทั้งระบบแบงก์จะต้องกำกับตัวเองก่อน เพราะหากแบงก์ปล่อยสินเชื่อได้สูง แต่เอ็นพีแอลสูง แปลว่าศักยภาพการปล่อยสินเชื่ออาจจะไม่ได้ดี ดังนั้น ธปท.ต้องการมอนิเตอร์การปล่อยสินเชื่อของแบงก์ และให้แบงก์ดูเรื่องการดำรงชีพของลูกค้าด้วย”