บาทกลับมาแข็งค่า หลังนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลสถานการณ์ไข้หวัดโคโรน่า

ภาพ: Paula Bronstein/Getty Images

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/2) ที่ระดับ 31.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (3/2) ที่ระดับ 31.06/08 บาท/ดอลลาร์ ภายหลัง นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดว่าการส่งออกไทยปี 63 จะกลับมาขยายตัว เนื่องจากการส่งออกล่าสุดเดือน ธ.ค. 62 หดตัว 1.3% แต่หากหักน้ำมันและทองคำจะขยายตัวที่ 1.2% ถือเป็นสัญญาณดีว่าการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวและมีทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกมีสัญญาณที่ดีขึ้น คือ 1.เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.3% ในปี 63 จาก 2.9% ในปี 62 และเห็นสัญญาณว่าการค้าโลกกำลังผ่านจุดต่ำสุดจากกิจกรรมการผลิตในหลายสาขา

2.ท่าทีความพร้อมในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของหลายประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

3.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

4.สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่เริ่มผ่อนคลายจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal)

และ 5.สถานการณ์ Brexit มีความชัดเจนแล้ว และมีช่วงเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

สำหรับประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในประเทศจีนนั้น สนค.คาดว่ายังไม่น่ากระทบต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าสูงในตลาดจีน เพราะมีอุปสงค์ซื้อสินค้าอาหารไทยที่มีความปลอดภัยและคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการชะงักของการค้าในภูมิภาค ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.92-31.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (4/2) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1060/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/2) ที่ระดับ 1.1068/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่า หลัง นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะขึ้นเวทีปราศรัยที่ลอนดอนในวันนี้ และจะย้ำว่า ในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีนั้น อังกฤษไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปหรือ EU อีกต่อไป

อังกฤษได้ถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากการแยกตัวอย่างเป็นทางการจาก EU แล้ว อังกฤษได้เข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้อังกฤษและ EU ได้เจรจาในด้านต่าง ๆ นับตั้งแต่ประเด็นการค้าไปจนถึงความมั่นคง

ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าว อังกฤษจะยังคงอยู่ภายใต้กฎหมาย EU เหมือนกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของ EU แต่จะไม่มีสิทธิส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในองค์กรของ EU ปัจจุบันช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวสามารถขยายออกไปเป็นเวลา 2 ปี หากได้รับความเห็นชอบจากทั้งอังกฤษและ EU อย่างไรก็ดี นายบอริส ยืนยันว่าอังกฤษจะไม่ขยายระยะเวลาเปลี่ยนผ่านหลังจากสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1050-1.1064 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1056/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (4/2) เปิดตลาดที่ระดับ 108.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/2) ที่ระดับ 108.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่โดยแถลงการณ์ของธนาคารโลกระบุว่า “ทางการจีนมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว และได้ประกาศอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจ” ทำให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวล โดยเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างสกุลเงินเยนลง โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.56-109.04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดดุลการค้าของสหรัฐเดือนธันวาคม (5/2), การจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ โดย ADP เดือนมกราคม (5/2), ดัชนีภาคบริการของยูโรโซนเดือนมกราคม (5/2), ผลการประชุมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (5/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศไทยเดือนมกราคม (6/2), จำนวนการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ เดือนมกราคม (7/2), อัตราการว่างงานของสหรับเดือนมกราคม (7/2) สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.9/-1.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0/+1.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ