ธปท.ชี้ปี’63 NPL ระบบธนาคารพาณิชย์มีโอกาสพุ่งทะลุ 3%

ธปท.แถลงผลดำเนินงานระบบธนาคารพาณิชย์ปี’62 พบหนี้เสียสูงถึง 2.98% หวั่นปี’63 มีโอกาสพุ่งทะลุ 3% ด้านกำไรสุทธิปีที่ผ่านมาโต 30.8% อานิสงส์บันทึกกำไรพิเศษขายเงินลงทุน-ขายหลักประกัน NPL หากตัดปัจจัยพิเศษพบกำไรทรุด 5.2%

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2562 ว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปีที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ 2.0% โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.สินเชื่อธุรกิจ (64.1% ของสินเชื่อรวม) หดตัว 0.8% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการชำระคืนหนี้ในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ที่มีการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพื่อใช้คืนสินเชื่อหดตัว 1.9% ส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัว 2.1%

ทั้งนี้ สินเชื่อที่ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท) ขยายตัวในหลายประเภทธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยกู้โดยใช้ฐานข้อมูล (Information Based Lending) เช่น ธุรกิจดีลิเวอรี่ Grab และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Lazada เป็นต้น

2.สินเชื่ออุปโภคบริโภค (35.9% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 7.5% ชะลอลงจากปีก่อนในประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ในระดับสูง

ในส่วนของคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) อยู่ที่ 4.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.98% โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีการบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อด้วยการตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention : SM) ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.42% ณ สิ้นปี 2561 มาอยู่ที่ 2.79% จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

“ในระหว่างปี 2563 เราประเมินว่า NPL มีโอกาสที่จะปรับขึ้นเกินระดับ 3% แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วธนาคารพาณิชย์จะสามารถควบคุมให้ปรับลดลงมาได้” นายธาริฑธิ์ กล่าว

นายธาริฑธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของความมั่นคงในระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงสะท้อนจากระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้

โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.845 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน การออกหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางแห่งหนึ่งเพื่อรองรับการควบรวมกิจการ รวมถึงการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.6%

ขณะที่เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูงที่ 7.012 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.24 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ทรงตัวที่ 149.9% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ในระดับสูงที่ 187.5%

ในส่วนของผลประกอบการปี 2562 พบว่าปรับดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 270.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.8% จากการรับรู้กำไรพิเศษที่มาจากการขายเงินลงทุนและการขายหลักประกันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมปัจจัยพิเศษพบว่ากำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง 5.2% YoY

โดยผลประกอบการที่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 5.04 แสนล้านบาท หรือเติบโต 4.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ 1.462 แสนล้านบาท หดตัวลงเล็กน้อย 0.7% YoY ส่วนค่าใช้จ่ายสำรองอยู่ที่ 1.625 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 9.1% YoY ลดลงเล็กน้อยจากรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและรายได้ค่านายหน้าขายหลักทรัพย์

ขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.39%* จาก 1.11% ในปีก่อน ส่วนอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวที่ 2.73%

* หากตัดผลของรายการพิเศษออก ROA และ NIM ของปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.01 และ 2.71 ตามลำดับ