ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แถลงด่วนฟื้นความเชื่อมั่น หลังดัชนี SET ดิ่งหนักหลุด 1,400 จุด

Photographer: Brent Lewin/Bloomberg via Getty Images

ผู้จัดการตลาดหลักทรัพยฯ แถลงด่วนเรียกความเชื่อมั่นหลัง SET Index ร่วงต่ำสุดรอบ 3 ปีครึ่งทดสอบจุดต่ำสุดที่ 1,382.48 จุด ชี้ไวรัส COVID-19 ระบาดไม่ได้กระทบหุ้นทุกเซกเตอร์ โดยดัชนี 4 กลุ่ม “FIN-HOME-PAPER-ETRON” ยังบวกสวนตลาดลบเป็นโอกาสลงทุน ประเมิน SET Index กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้ภายใน 3 เดือน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ปรับลดลงประมาณ 50 จุด ทดสอบจุดต่ำสุดที่ 1,382.48 ถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบประมาณ 3 ปีครึ่ง นับจากเดือน ต.ค.ปี 2559 ที่เคยปรับลดลงไปที่ระดับ 1,261 จุด โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) SET Index ปรับลดลงประมาณ 9%

อย่างไรก็ตาม การปรับลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลงถึง 800 จุด หรือ ลดลง 3.15% และเป็นการปรับลงติดต่อกัน 4 วัน ขณะที่ภาพรวมของตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทิศทางเดียวกัน ดังนั้น การปรับลงดังกล่าวเป็นผลจาก “Global Event” หรือเป็นการปรับลงจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง

Photographer: Amanda Mustard/Bloomberg via Getty Images

“ปัจจัยการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ส่งผลกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วย โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มดัชนี SET Well-being (SETWB) ท่องเที่ยว และขนส่ง อย่างไรก็ตาม เราพบว่าการระบาดครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลเชิงลบต่อหุ้นทุกเซกเตอร์ โดยบางเซกเตอร์ดัชนียังสามารถยืนบวกได้ เช่น เงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) +5.66% YTD ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน (HOME) +2.35% กระดาษและวัสดุการพิมพ์ (PAPER) +1.05% และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) +0.54%” นายภากร กล่าว

นายภากร กล่าวว่า จากสถิติในอดีตเมื่อเกินเหตุการณ์ความเสี่ยง SET Index สามารถดีดกลับ (rebound) ได้ภายใน 3 เดือน ยกเว้นในกรณีน้ำท่วมที่กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ที่ใช้เวลาปรับขึ้นค่อนข้างช้า ซึ่งตลท.ประเมินว่าหลังประเด็นการระบาดของไวรัส COVID-19 คลี่คลายลงตลาหุ้นจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ รวมถึงแต่ละปีดัชนีมีเคลื่อนไหวขึ้นลงประมาณ 250-350 จุดเป็นเรื่องปกติ ขณะที่การปรับลงครั้งนี้มีการเคลื่อนไหวเพียง 180 จุดเท่านั้น

นอกจากนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดี หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ และทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีสูง แม้จะมีความเสี่ยงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในทิศทางชะลอตัวลง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงมีการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศอีกด้วย

ขณะที่แนวโน้มเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ยังเป็นการขายสุทธิเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจาก SET มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง รวมถึงนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ขายหุ้นไทยออกเพียงขาเดียว แต่ยังมีการสลับเข้าซื้อสุทธิในแต่ละวันด้วย โดยในภาวะที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเช่นนี้ส่งผลให้นักลงทุนปิดความเสี่ยง (Risk-off) และหันไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยแทน สะท้อนจากผลตอบแทนพัธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ลดลงต่ำอยู่ที่ 1%

“แม้นักลงทุนจะขายหุ้นทิ้ง แต่เป็นการขายหุ้นเพื่อเข้าไปหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้รัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่ว่าขายหุ้นทิ้งแล้วเงินไหลออกนอกประเทศไทย” นายภากร กล่าว

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีบจ.ทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/62 และงวดปี 2562 แล้วประมาณ 330 ราย หรือคิดเป็น 40% ของบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมด โดยเบื้องต้นพบว่ากำไรสุทธิปรับลดลงเล็กน้อยเช่นเดียวกับ 3 ไตรมาสในปี 2562 อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ติดตามแนวโน้มกำไรบจ.ทั้งหมดซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในช่วงกลางเดือน มี.ค.63

“หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต.ร่วมกันออกแนวทางช่วงเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โดยให้ส่งงบได้ล่าช้ากว่าปกติ ซึ่งงบการเงินทั้งหมดน่าจะออกมาได้ทันก่อนเดือน เม.ย.63 แต่แนวโน้มว่ากำไรบจ.มีทิศทางเช่นไรน่าจะเริ่มเห็นตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.แล้ว” นายแมนพงศ์ กล่าว