“ชาติศิริ” ตอบผู้ถือหุ้น ทำไมซื้อแบงก์อินโดฯ ตอนเศรษฐกิจวิกฤต

ธนาคารกรุงเทพออกมาปฏิเสธข่าวที่มีสื่อในอินโดนีเซียและสื่อออนไลน์ของไทยบางแห่ง รายงานว่า ธนาคารมีแผนที่จะเข้าซื้อธนาคารในอินโดนีเซียเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง หลังจากที่ธนาคารได้เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2562 พร้อมระบุว่า มีเพียงแผนที่จะควบรวมสาขาของธนาคารในอินโดฯเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเพอร์มาตา ภายหลังจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของเพอร์มาตา (mandatory tender offer) แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตเข้าถือหุ้นของเพอร์มาตาจำนวน 89.12% จาก Otoritas Jasa Keuangan (OJK) หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารในอินโดฯ และกระบวนการดังกล่าวน่าจะได้รับการอนุมัติภายในสิ้นเดือน เม.ย. 2563

ทั้งนี้ การแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อปฏิเสธข่าวดังกล่าว เกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น ถัดจากวันที่ธนาคารได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อขออนุมัติเข้าซื้อกิจการและรับโอนหุ้นของเพอร์มาตา

โดยระหว่างการประชุม “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ได้ตอบคำถามของผู้ถือหุ้นถึงเหตุผลและสาเหตุการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ในหลายประเด็น

แจงซื้อเพอร์มาตาช่วง ศก.ไม่ดี

“ชาติศิริ” ตอบคำถามผู้ถือหุ้นที่ถามถึงเหตุผลการซื้อเพอร์มาตาในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ว่า มี 3 หัวใจหลักในการตัดสินใจ ก็คือ 1.เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2 เท่าของไทย คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า GDP อินโดฯจะขยายตัวเฉลี่ย 5% และประชากรจะเพิ่มเป็น 300 ล้านคน หรือ 4 เท่าของไทย ขณะที่อุตสาหกรรมแบงก์ในอินโดฯมีโอกาสขยายตัวได้ดี โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่อง สินเชื่อเติบโตเฉลี่ยปีละ 17% เงินฝากเติบโต 14% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 5.1% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตยังมีอีกมาก

2.ธนาคารกรุงเทพ ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในอินโดฯมาเป็นเวลา 51-52 ปีแล้ว มีสาขารวม 3 แห่ง ได้แก่ จาการ์ตา สุราบายา และเมดาน รวมถึงมีฐานลูกค้าไทย อินโดฯ และต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งธนาคารจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นผ่านฐานลูกค้าเพอร์มาตา ขณะเดียวกัน การที่อินโดฯก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น การบริโภค การผลิต การลงทุน ซึ่งเป็นโอกาสของธนาคารกรุงเทพที่เข้าไป

และ 3.พื้นฐานของธนาคารเพอร์มาตาที่มีสาขา 322 แห่ง ใน 62 จังหวัด จะทำให้ธนาคารกรุงเทพมีพื้นฐานที่ดีในการให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น และมีสัดส่วนพอร์ตลูกค้าใกล้เคียงกัน โดยมีสัดส่วนลูกค้ารายใหญ่ประมาณ 40% ลูกค้าเอสเอ็มอี 30% และรายย่อย 30% และหากดูในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพอร์มาตามีการปรับปรุงนำระบบบริหารความเสี่ยงเข้ามามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้ว่าในช่วงปี 2558-2559 เพอร์มาตาจะมีปัญหาเรื่องหนี้เพราะเจอปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตก ซึ่งได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว ทำให้เอ็นพีแอลสิ้นปี”62 อยู่ที่ 2.8%

“เราไม่ได้เป็นคนกำหนดเวลาขาย แต่ผู้ขายเป็นผู้กำหนดว่าจะขายตอนไหน เมื่อเขาเสนอขายมา ซึ่งเราเห็นจังหวะที่ดีและดูโอกาสปัจจัยการเติบโตต่าง ๆ โดยเราได้คาดการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ถึงเงินลงทุนและการเติบโตสินเชื่อ ซึ่งเห็นสมควรและเป็นโอกาส จึงตัดสินใจเข้าซื้อเพอร์มาตา” นายชาติศิริกล่าว

ส่วนข้อสงสัยว่า เหตุใดผู้ถือหุ้นเดิมจึงขายหุ้นให้ธนาคาร หากเพอร์มาตามีโอกาสเติบโตที่ดี “ชาติศิริ” อธิบายว่า การที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และพีที แอสทร่าฯ ตัดสินใจขายหุ้นให้แบงก์กรุงเทพ เข้าใจว่าหลังเข้าไปเซตอัพและพิจารณาถึงกลยุทธ์ในระยะยาวแล้ว อาจจะไม่สอดคล้องกับที่ตั้งใจไว้ จึงตัดสินใจขายออกมาเหมือนในเมืองไทยที่มีธนาคารต่างชาติเข้ามา แต่ก็มีที่ไม่ประสบความสำเร็จ

เงินกองทุนเพียงพอ-จ่ายปันผล

“ชาติศิริ” ยังตอบคำถามถึงเรื่องโอกาสการทำกำไรและจ่ายปันผลด้วยว่า การเติบโตในอินโดฯก็คงมีขึ้นและลงเหมือนในไทย โดยธนาคารได้คำนวณการลงทุนแล้วว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ถือหุ้นได้ ขณะเดียวกันจะกำหนดเงินปันผลที่ 7 บาทในการประชุมผู้ถือหุ้น ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ จากเดิมกำหนด 6.50 บาท ซึ่งจะเห็นว่ามีเงินกองทุนเพียงพอ ทำให้ไม่ต้องเพิ่มทุน ซึ่งในระยะกลางและยาวสามารถสร้างรายได้และจ่ายเงินปันผลที่มีความเสถียรมากขึ้น และหากดูอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ของเพอร์มาตาอยู่ที่กว่า 5% เชื่อว่าเมื่อธนาคารดำเนินธุรกิจไปได้ระดับหนึ่ง จะสามารถสร้างรายได้ที่คุ้มทุน

รวมสาขาเข้ากับเพอร์มาตา

ส่วนคำถามเรื่องชื่อธนาคารหลังรวม 3 สาขาในอินโดฯ เข้ากับเพอร์มาตา “ชาติศิริ” กล่าวว่า คงจะมีการพิจารณาดูให้มีความเหมาะสม โดยการควบรวมสาขา เป็นไปตามนโยบายของทางการอินโดฯที่ต้องปฏิบัติ โดยสาขาธนาคารกรุงเทพมีพนักงาน 100 คน พนักงานเพอร์มาตามีอยู่ 7,000 คน จะไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งธนาคารให้ความสำคัญในการดูแลบุคลากรให้สามารถประสานงานกันได้ทั้งในระยะสั้นและยาว

ต่อยอดดิจิทัลแบงกิ้ง

“ชาติศิริ” ยังตอบคำถามถึงการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเพอร์มาตาด้านดิจิทัลแบงกิ้ง ว่าเพอร์มาตามีกลยุทธ์การเข้าถึงประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคาร (unbank) ประมาณ 50% ผ่านแอปพลิเคชั่น Permata Mobile Banking X ที่เชื่อมต่อกับพันธมิตรมากกว่า 800 ราย เช่น AirAsia ที่ออกบัตรเครดิตและเดบิตร่วมกัน หรือ home credit กับบริษัทให้สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานลูกค้า 3.1 หมื่นรายต่อเดือน เป็นต้น และมีบริการมากกว่า 200 ฟีเจอร์ ลูกค้าสามารถซื้อขายประกัน กองทุน ชำระเงิน เป็นต้น โดยในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมามียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้ง ซึ่งธนาคารจะได้ประโยชน์จากการขยายพันธมิตรจากการเชื่อมต่อระบบที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงสุดในต้นทุนที่ต่ำ

“ธนาคารไม่มีแผนจะซื้อธนาคารอื่น ไม่ว่าในอินโดนีเซียและที่อื่นไปอีกสักระยะ เพราะธนาคารมีแผนที่จะต้องทำและดำเนินการอะไรอีกมากมาย จึงไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่ออกมา” นายชาติศิริกล่าวย้ำกับผู้ถือหุ้น

หลังจากฟังคำชี้แจงจากผู้บริหารอย่างชัดเจน ผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงเทพก็ลงมติเห็นด้วยสัดส่วน 85.46% สนับสนุนให้แบงก์เบอร์หนึ่งของเมืองไทยเดินหน้าลุยต่อยอดธุรกิจใน “แดนอิเหนา” ต่อไป