ตั้งแผนฉุกเฉินสกัดธุรกิจประกันสะดุด

ตอนนี้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่เห็นจะมีวี่แววว่าจะคลี่คลาย ทำให้หนึ่งในหน่วยงานด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เตรียมพร้อมมาตรการรับมือเพิ่มเติม จึงได้นัดประชุมภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเข้ามาหารือถึงมาตรการเพิ่มเติมในการรองรับแผนธุรกิจหยุดชะงัก โดยมีอยู่ประมาณ 4 กลุ่มหลักคือ 1.งานด้านกำกับ 2.งานด้านตรวจสอบรวมถึงคนกลางประกันภัย 3.การกำหนดเปิด-ปิดทำการบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย และ 4.การดำเนินงานสำนักงาน คปภ.

เพิ่มแผน BCP รับมือไวรัสระบาด-ผ่อนผันส่งรายงานเงินกองทุนไม่เกิน 30 วัน

โดยด้านนางสาวชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนามาตรฐานการกำกับ คปภ.ได้รับมอบหมายให้กล่าวในที่ประชุมว่า มาตรการการเตรียมความพร้อมและผ่อนผันให้บริษัทประกันภัยเพิ่มเติม จะมี 2 เรื่องในด้านกำกับคือ 1.การจัดทำแนวปฏิบัติเรื่องการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) และ 2.การจัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP) ซึ่งจากการสำรวจของบริษัทประกันภัยทั่วโลก ทางบริษัทประกันภัยเกือบ 50% อาจจะยังไม่ได้มีแผน BCP ที่เข้มแข็ง แต่สำหรับประเทศไทยเอง ทางคปภ.ได้มีการสำรวจก็พบว่า ธุรกิจประกันในไทยทุกบริษัทมีแผน BCP รองรับอยู่แล้ว และค่อนข้างมีความพร้อม โดยเริ่มมีแนวปฏิบัติ BCP ออกไปตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งทุกบริษัทได้นำไปปฏิบัติแล้ว

ซึ่งเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างจากภัยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทางคปภ.จึงมีการจัดทำแนวปฏิบัติ BCP สำหรับรับมือเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งโครงสร้างจะคล้ายแนวคิดเดิมที่มีอยู่ แต่อาจจะมีการยกเหตุการณ์หรือกระบวนงานให้ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์โรคระบาด

และอีกมาตรการคือ การส่งเสริมรายงานการดำรงเงินกองทุนกับการรายงานการบริหารความเสี่ยง ซึ่งทางคปภ.จะมีการผ่อนผันเฉพาะกรณีสำหรับบริษัทที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก และส่งผลให้กระบวนการจัดส่งการรับรองรายงาน อาจจะเกิดเหตุสุดวิสัยให้ล่าช้า ซึ่งทางคปภ.โดยประกาศนายทะเบียนและประกาศสำนักงานจะมีการพิจารณาเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการผ่อนผัน โดยให้บริษัทสามารถขอผ่อนผันพร้อมเหตุผลเป็นรายกรณี โดยการผ่อนผันจะไม่เกิน 30 วัน

ดึงเทคโนโลยีตรวจสอบข้อมูลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เลี่ยงติดเชื้อ

ผู้บริหาร คปภ.กล่าวต่อว่า ส่วนงานด้านตรวจสอบรวมถึงคนกลางประกันภัย จะมีลักษณะเดียวกับงานกำกับคือจะผ่อนคลายระยะเวลาส่งงบการเงินทั้ง งบการเงินรายไตรมาส และงบการเงินประจำปี 2562 และรายงานฐานะการเงินและกิจการของบริษัทสำหรับไตรมาส 1/2563 และรายงานประจำปีแสดงการดำเนินงานของบริษัทประจำปี 2562 ซึ่งจะผ่อนผันเป็นกรณีและรีบเข้ามาแสดงเหตุความจำเป็น โดยต้องไม่กระทบกับเสถียรภาพทางการเงินของบริษัท

แผนการตรวจสอบจะปรับแผนลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด โดยใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์หากคปภ.ต้องการเอกสารเพิ่มเติม หรือในกรณีมีการสัมภาษณ์เชื่อมโยงข้อมูลกัน และในกรณีตรวจข้อมูลแล้วปรากฏเห็นความเสี่ยงที่ต้องใช้มาตรการแทรกแซงจะจัดสรรทรัพยากรเข้าตรวจ ณ ที่ทำการตามมาตรการความปลอดภัย

สำหรับส่วนมาตรการคนกลางประกันภัย สำหรับบุคคลธรรมดามาตรการแรกจะขยายเวลาการขอออกใบอนุญาต ส่วนที่เหลือจะเป็นการป้องกัน เริ่มจากการเข้าสอบใบอนุญาตต้องไม่มีโรคระบบทางเดินหายใจ และขอความร่วมมือตัวแทนนายหน้าชะลอหรืองดการเข้าสอบ และเลื่อนการจัดอบรม

ส่วนมาตรการสำหรับนายหน้านิติบุคคลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือบรรเทาความเดือดร้อน และยกร่างแนวปฏิบัติ ซึ่งสำหรับธนาคารพาณิชย์(แบงก์) ให้ยึดปฏิบัติตามกำหนดหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่วนนายหน้านิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารจะเอาแนวปฏิบัติโดยจะนำร่างความคิดเห็นของภาคธุรกิจหลังจากนี้

แก้กฎหมายเร่งด่วน หนุนประกันยื่นปิดทำการสาขาชั่วคราว

งานด้านกฎหมายโดยนายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี คปภ.อธิบายว่า คปภ.จะมีการตรวจสอบในกรณีที่บริษัทประกันหรือสาขาของบริษัทได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสหรือต้องปิดสาขาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งถ้าตรวจสอบจากประกาศที่ใช้เรื่อง ประกาศการเปิดทำการติดต่อประชาชนในปัจจุบันยังติดขัดอยู่ และกฎหมายเตรียมร่างประกาศฉบับแก้ไขเร่งด่วนเข้าบอร์ดเดือนนี้เลยว่า บริษัทประกันสามารถยื่นให้สำนักงาน คปภ.ปิดสาขาในกรณีที่มีความจำเป็นเรื่องดังกล่าวได้

คปภ.เข้มป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

ส่วนมาตรการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ที่ผ่านมามีการออกมาตรการป้องกันในเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อ และการเดินทางของพนักงาน และการคัดกรอง ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมยกระดับในขั้นต่อไป ซึ่งคปภ.มีนโยบาย BCP อยู่แล้ว ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างพอรองรับไวรัสโควิด-19 รวมถึงได้มีการกำหนดการเตรียมการไว้แล้วในเบื้องต้นหากมีพนักงานหรือญาติของพนักงานที่มาติดต่อพบว่าติดเชื้อ คปภ.คงต้องปิดสำนักงานเพื่อทำการฆ่าเชื้อ อาจจะระยะเวลา 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับเวลาในการฆ่าเชื้อ แต่จะต้องจัดการการดำเนินงานในการต่ออายุคนกลาง เรื่องร้องเรียน และสายด่วน ซึ่งสำนักงานที่เหลือจะเข้าไปช่วยเหลือทันที