ค่าเงินบาทผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์ ตลาดแรงงานสหรัฐยังส่งสัญญาณอ่อนแอ

ค่าเงินบาท
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม 2563 โดยในช่วงวันหยุดของประเทศไทย (4/5) ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าอย่างมากจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (30/4) ที่ระดับ 32.34/35 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในวันอังคาร (5/5) โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (5/5) ที่ระดับ 32.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ประจำเดือนพฤษภาคม 2563 เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยในปีนี้ เป็นหดตัว -3% ถึง -5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมีนาคม ว่าจะเติบโตที่ระดับ 1.5% ถึง 2.0%

ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าสินเชื่อซอฟต์โลนของ ธปท. วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ที่เปิดรับคำขอมา 2 สัปดาห์แล้วนั้น นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า มีการใช้วงเงินไปแล้วทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 22,000 ราย มูลค่าสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ธปท.ย้ำว่ายังมีวงเงินเหลือเพียงพอ พร้อมให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างทั่วถึง

ค่าเงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนหลังเศรษฐกิจของสหรัฐจะเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กชี้แจงว่าจะเปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนั้นรัฐอื่น ๆ เช่น รัฐอลาสก้า, เซาธ์แคโรไลนา, เทนเนสซี และเท็กซัส ก็ได้เริ่มให้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการแล้วเช่นกัน ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุของสหรัฐ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้เริ่มทำการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในคนแล้ว ทั้งนี้ไฟเซอร์ได้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวร่วมกับ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี โดยผู้เข้าร่วมโครงการทดลองดังกล่าวในสหรัฐจะได้รับการฉีดวัคซีน BNT162 หลังจากที่เริ่มมีการทดลองวัคซีนดังกล่าวในคนเยอรมนีในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งไฟเซอร์คาดว่า บริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนหลายล้านโดสภายในปลายปีนี้

อย่างไรก็ดี ความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐได้กลับมาอีกครั้ง หลังมีรายงานว่าสหรัฐอาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน เพื่อเป็นมาตรการลงโทษจีนที่ทำให้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ในวันพฤหัสบดี (7/5) ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐลดลง 20,236,000 ตำแหน่งในเดือน หลังจากลดลง 149,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม การดิ่งลงของตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล และในวันศุกร์ (8/5) ค่าเงินดอลลาร์ได้กลับมาอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 3,170,000 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 3,050,000 ล้านราย

โดยคืนวันศุกร์นี้ (8/5) นักลงทุนจะจับตามองรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่คาดว่าจะดิ่งลง 21,500,000 ล้านตำแหน่งในเดือนเมษายน ซึ่งหากสถานการณ์ย่ำแย่กว่าที่คาดอาจกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อไปอีกได้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.25-32.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (8/5) ที่ระดับ 32.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ในวันอังคาร (5/5) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0911/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (30/4) ที่ระดับ 1.0877/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาย่ำแย่ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลง 9.2% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2534 จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังมีรายงานว่ายอดสั่งซื้อภาคโรงงานก็หดตัวลงถึง 15.6% ในเดือนมีนาคม ซึ่งก็เป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดนับตั้งแต่สำนักงานสถิติได้เริ่มรายงานข้อมูลดังกล่าวในเดือนมกราคม 2534 ด้วยเช่นกัน โดยยอดสั่งซื้อภายในประเทศร่วงลง 14.8% ขณะที่ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัว 16.1%

นอกจากปัจจัยด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว ในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรยังถูกกดดันอย่างหนัก หลังมีรายงานข่าวว่า ในวันอังคาร (5/7) ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีคำตัดสินว่า ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB จะต้องทำการชี้แจงว่ามาตรการซื้อสินทรัพย์ที่ ECB ดำเนินการภายใต้โครงการ Public Sector Purchase Program (PSPP) ไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและการคลัง โดยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีได้กำหนดกรอบเวลาไว้ 3 เดือน มิเช่นนั้นแล้ว บุนเดสแบงก์ (ธนาคารกลางของเยอรมนี) จะถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในรายงานระบุด้วยว่า เดือนพฤศจิกายน 2562 ECB ได้ซื้อสินทรัพย์ตามโครงการ PSPP คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านยูโร

ทั้งนี้ PSPP เป็นโครงการของ ECB ซึ่งเปิดตัวในปี 2558 ในการซื้อสินทรัพย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกและมีการซื้อขายในตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และส่งเสริมการบริโภค และการลงทุน รวมทั้งกระตุ้นเงินเฟ้อในยูโรโซน อีกทั้งยังมีรายงานว่า นายวาลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซน จะหดตัวถึง 7.4% ในปีนี้ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0767-1.0983 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/5) ที่ระดับ 1.0820/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันอังคาร (5/5) ที่ระดับ 106.55/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (30/4) ที่ระดับ 106.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวผันผวน โดยแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าในวันพุธ (6/5) หลังค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น มีสื่อต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ถือครองตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (commercial paper) พุ่งขึ้นเกือบ 30% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า BOJ ได้เข้าแทรกแซงตลาดอย่างหนัก เพื่อช่วยลดภาวะตึงตัวของเศรษฐกิจ โดยวิกฤตโควิด-19 นี้ ทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาสสูงมากขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

อย่างไรก็ดี ประเทศญี่ปุ่นยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประกาศอนุมัติการใช้ยา remdesivir ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่งผลให้ยา remdesivir เป็นยาตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการใช้รักษาผู้ป่วยในประเทศ ซึ่งข่าวดังกล่าวเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินเยนกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (8/5) ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.00-107.06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/5) ที่ระดับ 106.34/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ