ประธานเฟดยันไม่ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบสวนทางทรัมป์

เจอโรม เพาเวล ประธานเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม-15 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (11/5) ที่ระดับ 32.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (8/5) ที่ระดับ 32.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าหลุดระดับ 32.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงการซื้อขายข้ามคืนของวันศุกร์ (8/5) จากการเปิดเผยข้อมูลภาคแรงงานที่สำคัญของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะร่วงลง 21.5 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% ในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.8% อันเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่ำกว่าระดับ 24.9% ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ขณะที่อัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงเกิดวิกฤตการเงินในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 10%

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 16% ในเดือนเมษายน จากระดับ 4.4% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 หลังจากแตะระดับ 3.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ อันเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จำนวนคนว่างงานในเดือนเมษายนพุ่งสู่ระดับ 23.1 ล้านราย เพิ่มขึ้น 15.9 ล้านราย เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ดี ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าในช่วงแรกก่อนที่จะมีการทำกำไรกลับหลังจากที่มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์โดยมีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกครั้งในนครอู่ฮั่น เช่นเดียวกับเยอรมนี และเกาหลีใต้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาความคืบหน้าในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งล่าสุดนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาการค้าประจำทำเนียบขาวกล่าวว่า สหรัฐควรตอบโต้จีนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งสร้างความเสียหายไปทั้งโลก และควรมีการเรียกร้องความเสียหายจากจีนจากผลกระทบดังกล่าว โดยทางด้านผู้แทนการค้าสหรัฐและจีนได้หารือกันทางโทรศัพท์เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเฟสแรก

ขณะที่จีนระบุว่าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะปรับปรุงบรรยากาศเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า เขากำลังพิจารณาว่าจะยุติข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับจีนจากข้อกล่าวหาที่จีนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงท้ายสัปดาห์จากข้อเสนอแนะของนายทรัมป์ที่ต้องการให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินนโยบายการเงินแบบดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังข้อมูลเศรษฐกิจในวันอังคาร (12/5) แสดงการหดตัวของดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งบ่งชี้ถึงอัตราเเงินเฟ้อติดกันเป็นเดือนที่สอง

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของนายเจอโรม เพาเวล ประธานเฟดระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก หากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และเฟดอาจต้องใช้เครื่องมือด้านนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งสภาคองเกรสควรจะมีบทบาทมากขึ้นในการรับมือวิกฤตการณ์ดังกล่าวมากกว่าเฟดด้วยการใช้มาตรการทางภาษี และการใช้จ่ายของรัฐ ขณะเดียวกันนายเพาเวลกล่าวยืนวันว่าแม้เฟดใช้เครื่องมือด้านนโยบายจนหมดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ไวรัส COVID-19 แต่เครื่องมือหนึ่งที่เฟดจะไม่เข้าไปแตะคือการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.01-32.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (15/5) ที่ระดับ 32.07/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (11/5) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0837/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/5) ที่ระดับ 1.0840/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าเทียบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีคำตัดสินว่า อีซีบีจะต้องชี้แจงภายในเวลา 3 เดือนว่ามาตรการซื้อสินทรัพย์ที่อีซีบีดำเนินการภายใต้โครงการ Public Sector Purchase Programme (PSPP) ซึ่งจะทำการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกในตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ส่งเสริมการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งกระตุ้นเงินเฟ้อในยูโรโซนนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการคลัง มิฉะนั้นบุนเดสแบงก์ซึ่งเป็นธนาคารกลางของเยอรมนีจะถูกสั่งห้ามในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีขยายตัว 0.4% ในเดือนเมษายน จากเดิมที่ขยายตัว 0.3% ในเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.3% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของสเปนหดตัว 0.7% ในเดือนเมษายนตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์จากเดิมที่ทรงตัวในเดือนก่อนหน้า ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0773-1.0895 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/5) ที่ระดับ 1.0809/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (11/5) ที่ระดับ 106.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/5) ที่ระดับ 106.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีความคิดเห็นจากผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งยังคงเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอย เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ประกอบกับการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความไม่แน่ชัดในประเด็นสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.52-107.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/5) ที่ระดับ 107.03/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในภูมิภาค มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนในเดือนเมษายนซึ่งหดตัว 0.9% เทียบกับเดือนก่อน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะหดตัว 0.5% และขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบแบบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.7% และปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 4.3% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 3.9% เทียบกับเดือนเมษายนปีก่อน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 1.5% และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวไป 1.1% สะท้อนให้เห็นถึงการที่ภาคธุรกิจจีนเริ่มกลับมาดำเนินการ หลังจากมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศดีขึ้น