ค่าเงินบาททรงตัว หลัง กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%

เงินบาท-แบงก์ชาติ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/5) ที่ระดับ 31.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (19/5) ที่ระดับ 31.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้เข้าให้การต่อสภาคองเกรสเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการของเฟดและของรัฐบาลในการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  โดยนายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะเปิดตัวโครงการเงินกู้ดังกล่าวภายในปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า และหลังจากนั้นไม่นานก็จะมีการระบายเม็ดเงินเข้าสู่ตลาด ทั้งนี้ยังย้ำว่าเฟดพร้อมที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวลง 30.2% ในเดือน เม.ย. สู่ระดับ 891,000 ยูนิต จากระดับ 1.276 ล้านยูนิตในเดือน มี.ค. ขณะที่ตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 20.8% สู่ระดับ 1.074 ล้านยูนิตในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.83-32.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทได้รับปัจจัยบวกจากความคาดหวังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ ระดับ 75.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.0 ในเดือน มี.ค. 63 โดยค่าดัชนีต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ เม.ย. 52 เป็นการปรับตัวลดลงในทุกขนาดของอุตสาหกรรม ทั้งขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ สำหรับดัชนีใน 3 เดือนข้างหน้าคาดการณ์ปรับตัวลดลง อยู่ที่ 88.8 โดยลดลงจาก 96.0 ในเดือน มี.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการประกอบกิจการในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม โดยคณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีจากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที จากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก อัตรเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (20/5) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0938/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/5) ที่ระดับ 1.0951/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.0 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 28.2 ในเดือน เม.ย. การปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนผ่อนคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจเยอรมนี ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวลงสู่ระดับ -93.5 จากระดับ -91.5 ในเดือน เม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -88.0 ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0919-1.0959 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0949/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (20/5) เปิดตลาดที่ระดับ 107.88/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนคาสขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/5) ที่ระดับ 107.47/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานในเดือน มี.ค. ปรับตัวลง 0.4% จากเดือน ก.พ.สู่ระดับ 8.547 แสนล้านเยน (7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรซึ่งเป็นดัชนีวัดการใช้จ่ายด้านทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นนั้นปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือน ก.พ. ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.6-107.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.61/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 28-29 เม.ย. (21/5) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (21/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค.จากมาร์กิต (21/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน พ.ค.จากมารืกิต (21/5ป ยอดขายบ้านมือสองเดือน เม.ย. (21/5) ดัชนีนำเศรษฐกิจเดือน เม.ย. จาก Conference Board (21/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.50/+0.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.2/+0.7 สตางค์/ดดอลลาร์สหรัฐ