ดัชนีเศรษฐกิจ New Low ในเศรษฐกิจ New Normal

ดัชนีเศรษฐกิจทำสถิติใหม่แทบทุกตัว หลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” ส่งผลสะเทือนต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ 

5 เดือนหลังเกิดการแพร่ระบาดไม่นาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชิงหั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2563 ลงไปติดลบ 5.3% หดตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากปี 2552 ที่ติดลบ 0.7% โดยเป็นผลจากโควิด-19 เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเปราะบาง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติในวันที่ 20 พ.ค. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.5% ต่ำสุดในประวัติการณ์

โดย “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.เป็นธนาคารกลางแรกๆ ของโลกที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อตอบสนองสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 0.5% และเสนอลดอัตราเงินนำส่งเพื่อไปชำระหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% เป็นระยะเวลาชั่วคราว 2 ปี ซึ่งนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดในรอบ 17 ปี

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน เม.ย.63 ลดลงถึง 2.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน โดนสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน

เมื่อพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจจริง พบว่า จีดีพีไตรมาส 1 ออกมาหดตัว 1.8% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จีดีพีปีนี้มีโอกาสหดตัว 5-6% จากคาดการณ์ว่าส่งออกจะหดตัว 8% และการบริโภคเอกชนลบ 1.7%

ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.63 พบว่าปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 อีกทั้งยังอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่ เดือน ต.ค. 2542 เป็นต้นมา จากระดับ 50.3 จุด เป็น 47.2 จุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างมาก รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะการว่างงานที่สูง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด (ห้างค้าปลีกสมัยใหม่) ที่สำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั่วประเทศระหว่าง 23 มี.ค. – 17 เม.ย.63 พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 47.2 จุด ต่ำที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส หรือเกือบ 2 ปีที่เริ่มสำรวจมาตั้งแต่กลางปี 2561

ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยยอดผลิตรถยนต์เดือน เม.ย.63 ว่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 83.55% มาอยู่ที่ 24,711 คัน โดยเป็นการลดลงทั้งจากการผลิตเพื่อส่งออกที่ผลิต 81.76% ที่ 13,713 คัน และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 85.35% ที่ 10,988 คัน ขณะที่กำลังการผลิตในเดือน เม.ย.เป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 30 ปี ใกล้เคียงกับปี 2533 ที่มีกำลังการผลิตรถยนต์ 304,000 คันต่อปี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2563 มีโอกาสหดตัวลงราว 21-25% ต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ที่มีความเสี่ยงลดไปแตะระดับ 750,000 – 780,000 คัน จากปีก่อนที่ส่งออกได้กว่า 1 ล้านคัน และคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้กลางปี 2564

ล่าสุด “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.63 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย.52 โดยอยู่ที่ระดับ 75.9 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 88.0 จุด หรือลดลงถึง 13 จุด อีกทั้งไส้ในดัชนีความเชื่อมั่นยังสะท้อนว่าผู้ประกอบการทุกขนาดกิจการมีความเชื่อมั่นลดลงจากความกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรากรล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ

ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย.อยู่ที่ 79.04 จุด หดตัว 17.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 51.87% โดย MPI เดือน เม.ย.ต่ำสุดในรอบ 101 เดือน นับจากหลังช่วงน้ำท่วมเมื่อเดือน พ.ย.54 ที่ดัชนี MPI อยู่ที่ 66.95 จุด

ขณะที่ “วิชัย วิรัตกพันธ์” รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า คาดการณ์ว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์โครงการอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะลดลง 14-17% จากปีก่อน ขณะที่จำนวนยูนิตในการการโอนกรรมสิทธิ์มีโอกาสลดลง 11-17% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ฟากตลาดทุนไทย พบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ปรับลดลงไปอยู่ที่ 969 จุด ต่ำสุดในรอบ 8 ปี 3 เดือน 11 วันทำการ จากความกังวลสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงรุนแรงจากความขัดแย้งของกลุ่มโอเปก