ตลาดทุนชี้ข้อกังวลตั้งกอง “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” วัดใจ ก.ล.ต.ผ่อนทุกเกณฑ์จูงใจเอกชน

ก.ล.ต.ปลดล็อกทุกเกณฑ์-จ่องัดมาตรการภาษีหวังจูงใจ บลจ. จัดตั้ง “กองทุนไฮยีลด์บอนด์” ขณะที่วงในตลาดทุนชี้ “เกิดยาก” เหตุกองทุน/นักลงทุนสถาบันห่วงวิเคราะห์ความเสี่ยงยาก-บริษัทที่ออกหุ้นกู้เสี่ยงสูงส่วนใหญ่ไม่มีเรตติ้ง ขณะที่การกำหนดอายุกองทุน 1 ปี ถือว่า “ยาวเกินไป” สร้างภาระต้นทุนให้ บลจ.

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมตั้งกองทุนดูแลสภาพคล่องหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (noninvestment grade) หรือหุ้นกู้เสี่ยงสูง (ไฮยีลด์บอนด์) กรณีได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ข้อสรุปในเบื้องต้น คือ จะให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ตั้งกองทุนขึ้นมาภายในปีนี้ เพื่อลงทุนในหุ้นกู้กลุ่มดังกล่าว โดยจะกำหนดเกณฑ์ให้ต้องมีอายุกองทุนเกิน 1 ปี และเริ่มจ่ายคืนผู้ถือหน่วย ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะผ่อนเกณฑ์การลงทุนในไฮยีลด์บอนด์ให้แก่กองทุนที่ตั้งขึ้น โดยให้สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดต่อหนึ่งตราสาร เพื่อให้เกิดความคุ้มต้นทุนการวิเคราะห์ความเสี่ยงตราสารหนี้ จากเดิมที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้มูลค่า 300 ล้านบาท สามารถลงทุนได้เพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น

“เกณฑ์เดิม จะดูความเสี่ยงตรงที่ไม่ควรลงทุนในหนี้สินที่มีดอกเบี้ยเกิน 1 ใน 3 ของบริษัทบริษัทหนึ่ง ซึ่งทาง บลจ.ได้ทักท้วงว่า ไฮยีลด์บอนด์ในตลาด ทุกวันนี้มีถึง 76 บริษัท แต่มีบริษัทที่ได้รับการจัดเรตติ้งแค่ 16 บริษัทเท่านั้น ในสภาพแบบนี้ จึงมีข้อแนะนำไปว่า ควรจัดทำเรตติ้งทั้งหมดทุกบริษัท”

โดยปัญหาด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงป็นอุปสรรคหนึ่งของการจัดตั้งกองทุน เนื่องจากหลายบริษัทที่ออกตราสารเสี่ยงสูงไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้มีการเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือแม้เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็พบว่าไม่มีโบรกเกอร์ จัดทำบทวิเคราะห์ ซึ่ง ก.ล.ต.มีแนวคิดสนับสนุนทุนให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แห่งหนึ่ง เพื่อจัดทำบทวิเคราะห์

“นักลงทุนสถาบันยังกังวลในแง่ของความน่าเชื่อถือของบทวิเคราะห์ ในแง่ของความถี่ในการพูดคุยและเข้าเยี่ยมพบบริษัท (company visit) รวมถึงในการประเมินความเสี่ยงแต่ละบริษัท เพราะโดยปกติแล้วนักลงทุนสถาบันจะใช้บทวิเคราะห์เทียบกันหลาย ๆ ฉบับ

ทั้งนี้ กองทุนที่จะตั้งขึ้นยังมีข้อจำกัดในการเสนอขาย เพราะโดยทั่วไปแล้วการจัดตั้งกองทุนไฮยีลด์บอนด์นั้น บลจ.จะเข้าไปเสนอกองทุนต่อผู้ขาย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้บริการความมั่งคั่งส่วนบุคคล (private wealth) ซึ่งผู้ขายจะนำรายละเอียดกองทุนเบื้องต้นไปเสนอแก่ผู้ซื้อ หรือนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของตนเองต่อไป หากมีความต้องการซื้อกองทุนจะทำการวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป

นอกจากนี้ อายุกองทุนที่กำหนดก็เป็นอุปสรรคต่อการออกกองทุน เนื่องจากกองทุนไฮยีลด์บอนด์ที่ บลจ.เสนอขายปกติแล้วจะมีอายุราว 6 เดือน ขณะที่ ก.ล.ต.กำหนด 1 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเป็นภาระของกองทุนในแง่ที่ต้องรีวิวผลตอบแทนให้แก่ลูกค้าในระยะถัดไป

“ก.ล.ต.บอกว่าเปิดทางให้ทุกอย่าง ปล่อยผีหมดแล้ว อยากลงทุนอะไรก็ลงทุนได้ แต่ปัญหาคือ ตัวกองทุนเอง เขาก็ประเมินแล้วว่าทำได้ยาก และกองทุนไม่อยากทำด้วย เนื่องจากไม่รู้จะคุ้มหรือเปล่า” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีตลาดตราสารหนี้เสี่ยงสูง (high yield market) เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้นกู้เสี่ยงสูง โดยผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสนอ ก.ล.ต.ถึงเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกองทุนของไทยส่วนใหญ่ไม่มีการลงทุนในหุ้นกู้เสี่ยงสูง โดยมีเพียงส่วนน้อยที่ตั้งกองทุนลงทุนหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว และเป็นตราสารเสี่ยงสูงในต่างประเทศ ขณะที่ตราสารเสี่ยงสูงในไทยกว่า 90% เป็นการลงทุนของนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ (HNW) และมีแค่ 10% ที่เป็นการลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน

สำหรับการดึงบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เข้ามาร่วมด้วยนั้น เนื่องจาก ก.ล.ต.มองว่าอุปสรรคหนึ่งของการลงทุนหุ้นกู้เสี่ยงสูงในประเทศไทยที่ไม่มีตลาดซื้อขายเปลี่ยนมือ หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (default) จะต้องเข้าสู่กระบวนการเข้าฟื้นฟูเหมือนกรณี บมจ.การบินไทย (THAI) เท่านั้น จึงอยากให้ AMC เข้ามารับซื้อในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้

“การจะให้ AMC เข้ามารับซื้อ ก็ยังคุยกันไม่ลงตัว เพราะปกติเวลา AMC เข้าไปซื้อหนี้เสียของแบงก์ จะซื้อเป็นพอร์ตไม่ได้ซื้อบริษัทเดียว ดังนั้น ถ้าให้เขาซื้อแค่ตัวเดียวก็ไม่คุ้มกับการที่เขาต้องมาเสียเวลาดู” แหล่งข่าวกล่าว

รื่นวดี สุวรรณมงคล

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เงินกองทุนจะมาจากผู้ที่สนใจลงทุน เนื่องจากกลไกที่หารือกัน จะเป็นรูปแบบการจัดตั้งกองทุนหรือทรัสต์ ซึ่งเป็นกองทุนปิด ที่มีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ ขายให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยเน้นลงทุนในไฮยีลด์บอนด์ละจะผ่อนคลายบางกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดตั้งและบริหารกองทุน นอกจากนี้ อยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับมาตรการจูงใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง