ค่าเงินบาทแข็งค่า หลัง กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/6) ที่ระดับ 30.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (23/6) ที่ระดับ 30.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน แม้ว่านายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าประจำทำเนียบขาว ได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่ยุติ สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวขึ้น 16.6% ในเดือน พ.ค แข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.9% บ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐเริ่มฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวสู่ระดับ 46.8 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 37.0 ในเดือน พ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดให้ธุรกิจต่า ๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.81-30.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ค. 63 โดยการส่งออกมีมูลค่า 16.278 ล้านเหรียญ หดตัว 22.50% เป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 130 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 52 จากตลาดคาดว่าจะหดตัว 5.8 ถึง 6.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,584 ล้านเหรียญ หดตัว 34.41% จากตลาดคาดติดลบ 18% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 2,694.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค. 63 หดตัวลงมาก มีสาเหตุสำคัญจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานของหลายประเทศทั่วโลกลดลง และยังประเมินได้ยากว่าจะลากยาวไปถึงเมื่อใด นอกจากนี้ยังเป็นผลจากฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงในเดือน พ.ค. 62 จึงทำให้มีอัตราติดลบในระดับสูง สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบองการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (24/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1316/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/6) ที่ระดับ 1.1290/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นเดือน มิ.ย.ของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.5 จากระดับ 31.9 ในเดือน พ.ค. และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 42.4 แม้ว่าดัชนี PMI ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุกิจของยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว แต่ตัวเลขที่ปรับตัวขึ้นก็ถือเป็นสัญญาณบวก เนื่องจากสะท้อนถึงการหดตัวในอัตราที่ลดน้อยลง โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลในหลายประเทศของยูโรโซนผ่อนคลายมาตราล็อกดาวน์ และการบริโภคที่เริ่มกลับฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1266-1.1325 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1308/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (24/6) เปิดตลาดที่ระดับ 106.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/6) ที่ระดับ 107.08/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนและทองคำยังคงมีแรงเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ตลาดยังกังวลสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.36-106.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.49/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือน เม.ย. (24/6) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (25/6) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 (25/6) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. (25/6) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. (26/6) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.3/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.5/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ