จีดีพี ไตรมาส 2 หดลึกตามคาด -12.2 % สศช.คาดทั้งปี -7.5%

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สภาพัฒน์​ฯ เผยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 หดตัวลึกตามคาดติดลบ 12.2% อ่วม​พิษโควิด-19 คาดทั้งปีติดลบ 7.5% ด้านอัตราผู้ว่างงานลดลง 1.9% เสี่ยงตกงานอีกพรึบกว่า 1.7 ล้านคน อาชีพอิสระเสี่ยงสุด ขณะที่หนี้เสียพุ่งกว่า 23.6% แตะระดับ 1.56 แสนล้านบาท

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 ติดลบอยู่ที่ 12.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเศรษฐกิจโลก เนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเต็มไตรมาส และถือเป็นไตรมาสที่จะต่ำสุดของปีนี้แล้ว แต่อาจยังไม่ถือเป็นจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์เนื่องจากยังติดลบน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่จีดีพีรายไตรมาสติดลบถึง 12.5% อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้จีดีพีไทยหดตัวติดลบ 9.7% โดยสภาพัฒน์คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยคงจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้จากความหวังของวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การเบิกจ่ายของภาครัฐ และการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก จึงประมาณการตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2563 จะติดลบในช่วงระหว่าง 7.8-7.3% และให้ค่ากลางติดลบอยู่ที่ 7.5%

ประมาณการจีดีพีไทยทั้งปีติดลบอยู่ที่ 7.5% จะอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก น่าจะอยู่ในวงจำกัดภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และไม่มีการระบาดรุนแรงรอบ 2 เกิดขึ้น

ทั้งนี้สำหรับเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน -6.6% การลงทุนรวม -8% การส่งออก -28.3% การนำเข้า -23.3% ภาคบริการ -12.3% ภาคเกษตร -3.2% และภาคนอกเกษตร-12.9% มีเพียงปัจจัยเดียวที่ช่วยพยุงสถานการณ์ไว้ได้คือ การอุปโภคบริโภคภาครัฐเพิ่มขึ้น 1.4% และการลงทุนภาครัฐบวก 12.5% เนื่องจากมีการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และการใช้เม็ดเงินเยียวยาประชาชนฐานรากวงเงิน 5,000 บาทต่อคน อย่างไรก็ดีเชื่อว่าตัวแปรดังกล่าวจะเป็นตัวพยุงจีดีพีปีนี้ต่อไปได้ เนื่องจากรัฐบาลยังมีวงเงินกู้ที่เหลืออยู่อีกกว่า 3 แสนล้านบาทในการพลิกฟื้นเศรษฐกิ

ทั้งนี้แนวทางในการบริหารเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีคงต้องโฟกัสมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกไปแล้วเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนผ่านวงเงินกู้ 9.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย และต้องไม่ให้หนี้เสีย(NPL) เกิดขึ้นในภาคธุรกิจที่จะลามไปถึงสถาบันการเงินได้ นอกจากนั้นภาคธุรกิจที่ยังมีปัญหาการฟื้นตัว อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวบริการต่อเนื่อง และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs) ก็จะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษต่อไป รวมไปถึงการขับเคลื่อนการส่งออก ปัญหาด้านภัยแล้งและการจัดการน้ำเพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร และคงต้องดูแลบรรยากาศทางการเมืองในประเทศหากเกิดความวุ่นวายจะเกิดปัญหาซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยได้

นายทศพร กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 2 ปรับลดลง 1.95% จากที่มีแรงงานในระบบทั้งสิ้น 37.1 ล้านคน หรือมีผู้ว่างงานแล้วจำนวน 7.5 แสนราย ซึ่งเป็นการลดลงทั้งแรงงานในภาคเกษตร 0.3% และนอกภาคเกษตรกรรม 2.5% โดยสำหรับกลุ่มนอกภาคเกษตรกรรม แรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปลดคนงานมากที่สุดในสัดส่วน 6.3% ขณะที่ฝั่งการผลิตและสาขาโรงแรม-ภัตตาคาร ปรับลดลง 4.4% และ 2.8% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามทางสภาพัฒน์ชี้ว่าตัวเลขผู้ว่างงานดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขโดยรวมที่ยังไม่เฉพาะเจาะจง แต่เมื่อพิจารณาจากผู้ขอใช้สิทธิรับประโยชน์กรณีว่างงาน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 33 มีทั้งสิ้นแค่ 4.2 แสนราย ขณะที่แรงงานในระบบที่ตกอยู่ในความเสี่ยงการว่างงานในอนาคตมีทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน เนื่องจากคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ปัจจุบันยังมีสถานะเป็นผู้มีงานทำแต่สถานประกอบการประสบเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ฉะนั้นภาพรวมผู้ตกงานจึงน่าจะอยู่แค่ 2.18 ล้านราย ส่วนความเสี่ยงที่อาจจะเกิดผู้ตกงานสูงถึง 8 ล้านรายนั้นคงจะขึ้นอยู่กับการระบาดโควิด-19 ที่ลากยาวและมีความรุนแรงจนต้องปิดประเทศ

“กลุ่มที่เราเป็นห่วงมากคือกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอสิระ 16 ล้านคน ซึ่งจะแปรผันไปตามสถานการณ์ที่เราจะต้องดูแล ซึ่งยังได้รับผลกระทบอยู่ จากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา บางธุรกิจปิดตัวลง จึงต้องหามาตรการเพื่อช่วยเหลือต่อไป”

นอกจากนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยขึ้นมาอยู่ที่ 80.1% ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ นับเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี ด้วยมูลค่าถึง 13.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9%  แต่ชะลอตัวลง 5.1% จากไตรมาสก่อน โดยสภาพัฒน์มองว่ายังเป็นสัดส่วนที่ยังรับได้ โดยเป็นการอ้างอิงงานศึกษาจากธนาคารโลก และมองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลงได้เมื่อเศรษฐกิจภาพรวมกลับมา

ขณะที่มูลค่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) มีมูลค่าแตะ 1.56 แสนล้านบาท มีการปรับตัวสูงขึ้นถึง 23.6% และคิดเป็นหนี้เสียต่อหนี้สินรวมทั้งหมด 3.23% เพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนแนวโน้มสินเชื่อครัวเรือนในไตรมาส 2 ปีนี้ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการสินเชื่อในภาพรวมที่ปรับตัวลดลง