ธุรกิจระดมทุนโค้งท้ายปี “ซีพีออลล์” เข็นหุ้นกู้ 2.5 หมื่นล้าน

ซีพีออลล์

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” ลุ้นยอดออกหุ้นกู้ปีนี้เข้าเป้า 8 แสนล้านบาท เผยธุรกิจรายใหญ่จ่อออกหุ้นกู้อีกอย่างน้อย 8 หมื่นล้านบาทก่อนสิ้นปี “ซีพี ออลล์-ไออาร์พีซี-ดีแทค” ระดมเกินหมื่นล้าน คาด “เคทีซี-BAM-ราชกรุ๊ป” ต่อคิวออกปลายปี ชี้เทรนด์ใหม่ “หุ้นกู้ ESG”มาแรงยอดคงค้างพุ่ง 6.6 หมื่นล้านบาท

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 21 ส.ค. 63) บริษัทเอกชนไทยระดมทุนออกหุ้นกู้ใหม่แล้ว 455,200 ล้านบาท ซึ่งปีนี้หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การระดมทุนชะลอตัวลงไป โดยเฉพาะช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. มูลค่าการออกหุ้นกู้เฉลี่ยเหลือแค่ 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และแม้ว่าในเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะเริ่มมีแนวโน้มดูดีขึ้น โดยมีมูลค่าระดมทุนอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท และ 8.1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในเดือน ส.ค. (ณ วันที่ 21 ส.ค.) มูลค่าการออกหุ้นกู้ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากเป็นเดือนที่รัฐบาลมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นล้านบาท จึงดึงความต้องการซื้อของนักลงทุนส่วนหนึ่งไป โดยรอบนี้นักลงทุนเตรียมเงินไว้รอซื้อ หลังจากรอบแรกหลายรายซื้อไม่ทัน อย่างไรก็ดี การออกพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนหุ้นกู้ เนื่องจากวงเงินไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับความต้องการในตลาด

“จริง ๆ ในตลาดบอนด์ จะดูจังหวะเวลาในการออกหุ้นกู้กันอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้กระจุกตัวหรือชนกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะหลบกันเอง เช่น ช่วงไหนมีเจ้าใหญ่ออกมา รายอื่น ๆ ที่เรตติ้งใกล้เคียงกัน ก็จะหลบไปออกช่วงอื่น นักลงทุนเองก็จะสามารถทยอยเข้าซื้อได้ ขณะที่กระทรวงการคลังเอง ก็มีการคำนึงถึงภาวะตลาด และมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้กระทบกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ดังนั้น คงไม่ได้เป็นการแย่งสภาพคล่อง” นางสาวอริยากล่าว

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี ยังเห็นสัญญาณที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเตรียมจะออกหุ้นกู้ อีกอย่างน้อยกว่า 8 หมื่นล้านบาท อาทิ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท, บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น รวมถึงยังมี บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC), บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM), บมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) ที่มีแนวโน้มจะออกหุ้นกู้ช่วงปลายปีนี้ เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดออกมาอย่างชัดเจน

“คาดว่าปีนี้มูลค่าการออกหุ้นกู้ที่ประมาณการไว้ 8 แสนล้านบาท ยังมีความเป็นไปได้ เพราะถึงตอนนี้ก็ยังขาดอยู่อีกประมาณ 3.4 แสนล้านบาท หากไม่มีการระบาดโควิดระลอก 2 ภายในประเทศ แต่ก็ต้องรอประเมินสถานการณ์ของบริษัทรายใหญ่ด้วย”

นางสาวอริยากล่าวด้วยว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เริ่มเห็นแนวโน้มการระดมทุนออกหุ้นกู้ ESG (เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล) มากขึ้น ทั้งหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) ปัจจุบันมียอดคงค้างกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) ที่มียอดคงค้าง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น

ส่วนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงเกณฑ์กำหนดให้หุ้นกู้ที่จะขายนักลงทุนทั่วไปและรายใหญ่ ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน