TMB ตั้งทีมที่ปรึกษาแก้หนี้ สกัดพายุเอ็นพีแอล

ทีเอ็มบี ตั้งทีมที่ปรึกษาแก้หนี้ 100 คน เร่งพัฒนาระบบซอฟต์แวร์หาทางรอดการเป็นหนี้ หนุนเข้าโครงการรวมหนี้ลดภาระผ่อน-ดอกเบี้ย

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารได้จัดตั้งทีมงานขึ้นมาใหม่ที่เน้นให้การให้คำปรึกษาผ่านผู้เชี่ยวชาญ (Debt Advisory) จำนวน 100 คน โดยเป็นทีมงานที่ย้ายมาจากทีมขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งนำมาอบรมเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ โดยธนาคารได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาหนี้

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาการแก้หนี้ จะนำเสนอทางเลือกต่างๆ เช่น การทำ Debt Consolidation เพื่อให้ลูกค้าสามารถรวมภาระหนี้ที่มีจากหลายๆ บัญชีสินเชื่อให้เหลือหนี้เพียงบัญชีเดียว โดยลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากการขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระตามสินเชื่อมีหลักประกัน ทำให้ช่วยปรับลดภาระการผ่อนโดยรวมลง รวมถึงในระยะข้างหน้าธนาคารได้เปิดให้ลูกหนี้ข้ามแบงก์ เข้าโครงการได้ โดยนำร่องที่ ลูกหนี้ทีเอ็มบีกับธนชาตก่อนแล้วในเบื้องต้น

“ตอนนี้เบื้องต้นเราวางคนที่เป็นหมอหนี้ไว้ 100 คนก่อน แต่หากดีมานด์ลูกหนี้ที่เข้ามาขอคำปรึกษาเยอะเราก็สามารถเพิ่มคนได้ตามดีมานด์ โดยปัจจุบันทีเอ็มบีและธนชาตมีโซลูชันที่ลูกค้าสามารถนำมาใช้ตามคอนเซปต์ การรวมหนี้ ได้แก่ สินเชื่อทีเอ็มบี บ้านแลกเงิน และสินเชื่อธนชาตไดรฟ์ รถแลกเงิน ที่จะช่วยลดดอกเบี้ย ลดค่างวด และเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าได้ และพร้อมให้ลูกค้ารู้จักเครื่องมือทางการเงิน และเลือกใช้สินเชื่อที่เหมาะสม แต่ที่สำคัญแก้หนี้ได้อย่ากลับมาเป็นอีก”

นายปิติ กล่าวอีกว่า หากดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยจะเห็นว่ามีอัตราการเติบโตเร็วมาก จนกลายเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่ของประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 พบว่า คนไทยประมาณ 21 ล้านคนเป็นหนี้ และจากข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics พบว่าในปี 2561 หนี้ของคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจากการบริโภค (Personal Consumption) สะท้อนจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่มีสัดส่วนสูงถึง 34% ขณะที่หนี้รถมีสัดส่วน 25% หนี้บ้านมีสัดส่วน 40% และหนี้อื่นๆ อีก 1 % ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอังกฤษ หนี้ที่เกิดจากการบริโภคมีสัดส่วนไม่ถึง 5% โดยปัญหาหนี้อาจจะเกิดจากความคิดและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว ประกอบกับธนาคารเองก็ได้มีการออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างความสะดวกในการใช้จ่ายและช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น