ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบจำกัด ท่ามกลางความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก

ดอกเบี้ย-เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 31.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (3/9) ที่ระดับ 31.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทวิ่งอ่อนค่าในช่วงก่อนปิดตลาดวันพฤหัสที่ผ่านมา (3/9) เนื่องจากประเด็นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทย อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมทำให้ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัด ขณะที่นักลงทุนทำการซื้อขายอย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายด้าน

โดยวานนี้ (10/9) บริษัท AstraZeneca Plc บริษัทผลิตยารายใหญ่ของสหราชอาณาจักรออกมาประกาศว่าทางบริษัทได้ระงับการศึกษาขั้นปลายของวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ที่ทำการทดสอบมาอยู่ในขั้นที่ 3 ชั่วคราว ข่าวดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับตลาดอย่างมาก ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่องและความไม่แน่นอนของสงครมการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4/9) นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว National Public Radui (NPR) สนับสนุนให้ชาวอเมริกันหันมาใส่หน้ากากอนามัยและร่วมกันเว้นระยะห่างทางสังคมมากขึ้น โดยนายพาวเวลระบุว่าการใส่หน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคม อาจจะชวยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้นนายพาวเวลยังเน้นย้ำว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทางด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8/9) โดยประกาศกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบขาวว่า เขาจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน พร้อมเปรยมาตรการลงโทษบริษัทสัญชาติสหรัฐ ที่ไปสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศ และจะกีดกันบริษัทที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีนไม่ให้ได้รับสัญญาทางธุรกิจกับรัฐบาลกลางสหรัฐ

โดยนายทรัมป์กล่าวว่า รัฐบาลจะผลักดันให้บริษัทสัญชาติอเมริกันผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในด้านการผลิตภายในประเทศ รัฐบาลสหรัฐจะให้ผลประโยชน์ทางภาษีแก่สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in America) และจะเพิ่มอัตราภาษีกับสินค้าที่ผลิตต่างประเทศแล้วส่งกลับมาขายที่สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐที่ได้เปิดเผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบด้วยรายงานสถิติจากกระทรวงแรงงานสหรัฐของวันศุกร์ที่ผ่นมา (4/9) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 1.371 ล้านตำแหน่งในเดือนสิงหาคม น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ระดับ 1.4 ล้านตำแหน่ง และอัตราการว่างงานเดือนสิงหาคม ลดลงสู่ระดับร้อยละ 8.4 จากระดับร้อยละ 10.2 ในเดือนกรกฎาคม

ในวันอังคารที่ผ่านมา (9/9) กระทรวงแรงงานสหรัฐ เผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 617,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 6.6 ล้านตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม และในวันพฤหัส (10/9) กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 884,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่คาดที่ระดับ 850,000 ราย

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือนสิงหาคม สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.31-31.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตตลาดในวันศุกร์ (11/9) ที่ระดับ 31.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 1.1801/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (3/9) ที่ระดับ 1.1802/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าสอดคล้องกับค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตทางความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร หลังจากที่วันอังคารที่ผ่านมา (8/9) นายบอริ จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ยื่นคำขาดว่า สหราชอาณาจักรพร้อมที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit) หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าสำเร็จภายในกำหนดการเติมคือวันที่ 15 ตุลาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายสัปดาห์ (10/9) ค่าเงินยูโรวิ่งแขงค่าขึ้นไปสู่ระดับ 1.1910 หลังจากธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับร้อยละ 0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลางที่ระดับร้อยละ -0.50 ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับร้อยละ 0.25 โดยรายงานการประชุมระบุว่า ECB จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบัน หรือต่ำกว่าระดับดังกล่าว จนกว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสู่ระดับเป้าหมายคือ “อยู่ใกล้ แต่ไม่เกินร้อยละ 2”

นอกจากนั้น ECB ยังมีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 หรือจนกระทั่งคณะกรรมการนโยบายการเงินพิจารณาว่าวิกฤตการณ์จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหภาพยุโรปกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวน้อยกว่าคาดในปี 2563 โดยนางลาการ์ดกล่าวว่า เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปทั้งปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวลงร้อยละ  8.0 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่ระบุในเดือนมิถุนายน 2563 ว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปปี 2563 จะหดตัวถึงร้อยละ 8.7

นอกจากนี้ นางลาการ์ดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.3% ในปี 2563 และร้อยละ 1.0% ในปี 2564

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสหภาพยุโรป ที่ได้เปิดเผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบด้วย ดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนี เดือนกรกฎาคม (7/9) ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.7

นอกจากนั้น วันอังคารที่ผ่านมา (8/9) สหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ไตรมาสที่ 2/2563 ออกมาที่หดตัวร้อยละ 11.8 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่หดตัวร้อยละ 12.1 และเยอรมนีเปิดเผยดุลการค้าเดือนกรกฎาคมออกมาที่ 18,000 ล้านยูโร ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 16,000 ล้านยูโร

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1762-1.1908 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/9) ที่ระดับ 1.1842/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 106.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (3/9) ที่ะดับ 106.38/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันจันทร์ (7/9) ญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ไตรมาสที่ 2/2563 ออกมาที่หดตัวร้อยละ 7.9 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่หดตัวร้อยละ 8.1

โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.69-106.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/9) ที่ระดับ 106.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ