ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ รอปัจจัยใหม่หนุน

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 14-18 กันยายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (14/9) ที่ระดับ 31.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (11/9) ที่ระดับ 31.26/28 บาท/ดอลลาร์

ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ ๆ ขณะที่แผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ทางวุฒิสภาสหรัฐมีมติไม่รับรองแผนเยียวยารอบใหม่ที่นำเสนอโดยพรรครีพับลิกันซึ่งประกอบไปด้วย งบประมาณการใช้จ่ายราว 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นงบประมาณที่ขอเพิ่มใหม่ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงคืนวันพุธ (16/9) คณะกรรมการมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 นอกจากนี้ที่ประชุมเฟดยังได้ระบุถึงการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ของเฟดในการทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 2.00% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายเดิมของเฟดได้ในบางช่วงเวลา ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยทางคณะกรรมการจะใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และทิศทางของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนที่สูงมาก แม้ตัวเลขการจ้างงานเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากประชาชนเริ่มกลับเข้าทำงาน แต่อัตราว่างงานที่ระดับ 8.4% ในเดือนสิงหาคมยังถือว่าสูงมาก และคาดว่าอัตราว่างงานอาจจะสูงกว่าข้อมูลที่เจ้าหน้าที่รายงานอยู่ประมาณ 3% เมื่อพิจารณาจากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ปรับตัวลดลง

เช่นเดียวกับการเปิดตัวข้อมูลยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานซึ่งไม่รวมสินค้าในหมวดยานพาหนะ ขยายตัวเพียง 0.7% ในเดือนสิงหาคม จากที่ขยายตัว 1.3% ในเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 1.0% จากปัจจัยดังกล่าวจึงยังมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จะถูกกดดันอีกครั้งจากการทำกำไรกลับของนักลงทุน

ตลาดยังคงติดตามความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ของสหรัฐ และจีน หลังจากองค์การการค้าโลก มีคำตัดสินว่าการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 โดยอ้างว่าจีนได้ดำเนินการทางการค้าที่กระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายโอนเทคโนโลยี ถือเป็นการละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเท่านั้น และสหรัฐไม่สามารถชี้แจงให้เห็นว่าสินค้าจีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนยังคงจับตาความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมใหญ่ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์นี้ (19/9) เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และกดดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทและสกุลเงินเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่าตามสกุลเงินหยวน หลังจากโฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ของปีนี้ หากมีปัจจัยกระตุ้นการฟื้นตัวยังคงปรากฏให้เห็นในเดือนนี้ ประกอบกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ยังคงกดดันสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.06-31.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/9) ที่ระดับ 31.12/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (14/9) ที่ระดับ 1.1838/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/9) ที่ระดับ 1.1844/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากรายงานของมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า มีแนวโน้มมากถึง 40% ที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยไม่มีการทำข้อตกลง (No-deal BREXIT) ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างอังกฤษและอียูอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก ที่จะมีการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน ซึ่งมีโอกาสจะเกิดความวุ่นวายต่อการค้าระหว่างอังกฤษและอียูในช่วงเริ่มต้นปี 2564 และเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ มีการเปิดเผยข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน ซึ่งขยายตัว 4.1% เทียบกับเดือนก่อนหน้าในเดือนกรกฎาคมสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4.0% จากระดับ 9.5% ในเดือนก่อนหน้า และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรปเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 77.4 ในเดือนกันยายนจากระดับ 71.5 ในเดือนสิงหาคม สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 96.8 ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1735-1.1899 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/9) ที่ระดับ 1.1842/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (14/9) ที่ระดับ 106.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรับ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/9) ที่ระดับ 106.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้มีมติเอกฉันท์เลือกนายสึงะ โยชิฮิเดะ เป็นหัวหน้าพรรค ด้วยคะแนน 377 จาก 534 เสียง ซึ่งจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 99 ของประเทศญี่ปุ่นต่อจากนายชินโสะ อาเบะ ที่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคมเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ

ทั้งนี้ในการประชุมในวันพฤหัสบดี (17/9) ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% พร้อมกับคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0%

นอกจากนี้บีโอเจยืนยันว่าจะยังคงดำเนินมาตรการจัดสรรเงินกู้ให้กับบริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบ แถลงการณ์ของบีโอเจระบะว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อไป แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงวิกฤตอันเนื่องมาจากผลกระทบขอเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดทั้งในและต่างประเทศ

โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.51-106.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/9) ที่ระดับ 104.55/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ