“อาคม” ดันทำประกันสุขภาพเป็นวาระแห่งชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง สั่ง คปภ. เร่งทำแผนประกันสุขภาพ ประกันหลังวัยเกษียณ พร้อมประกันคมนาคม ยกระดับประกันสุขภาพผู้มีรายได้น้อย ลดความเหลื่อมล้ำ หวังลดงบประมาณด้านรักษาพยาบาล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายในงานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจรประจำปี 63 ว่า กระทรวงการคลังต้องการให้เกิดการทำประกันภัยในกลุ่มของประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น โดยการผลักดันประกันสุขภาพถือเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้ว จึงต้องการเข้าไปเน้นการป้องกันสุขภาพเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วย

โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เร่งจัดทำแผนประกันสุขภาพ ประกันหลังวัยเกษียณอายุ และประกันเกี่ยวกับการขนส่งคมนาคม เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณารูปแบบการดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ดี การยกระดับการประกันสุขภาพในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ควรเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพราะสัดส่วนการทำประกันสุขภาพของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่งบประมาณยังไม่เพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้นหากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐได้

“ปัจจุบันคนไทยมีสัดส่วนการทำประกันภัยน้อย และหลักประกัน หรือสวัสดิการของรัฐในด้านสุขภาพยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้นจึงจะใช้ระบบประกันเข้ามาช่วย เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมที่จะใช้มาตรการทางด้านการคลังเข้ามาสนับสนุน ทั้งการขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการใช้งบประมาณรัฐเข้าไปช่วย แต่รายละเอียดจะมีการศึกษาก่อน” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ คปภ.ไปพิจารณาการทำประกันพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชหลักทางเศรษฐกิจ ให้ครบทั้ง 5 ชนิด คือ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จากปัจจุบันที่ทำประกันข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไปแล้ว เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกลุ่มเกษตร ให้มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นได้

ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ธุรกิจประกันมีเบี้ยประกันรับโดยตรงอยู่ที่ 406,869 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจประกันชีวิต 285,402 ล้านบาท ธุรกิจประกันวินาศภัย 121,467 ล้านบาท โดยธุรกิจประกันภัยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 4.61 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีอยู่ที่ 5.3% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง

สำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยไทยจึงมีบทบาทในการช่วยพัฒนาประเทศ แต่ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นธุรกิจประกันจึงต้องปรับตัว เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปให้มากขึ้น ขณะเดียวกันในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย คปภ.ได้บูรณาการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 เช่น การสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การนำเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางในการเข้าถึงประกันมากขึ้น

“พร้อมจะนำแนวทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายไปดำเนินการ โดยจะต้องหารือร่วมกับอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อจัดทำแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมา คปภ.ได้มีการส่งเสริมอยู่แล้ว เช่นการจัดทำประกันภัยเฉพาะโรค ที่มีเบี้ยราคาถูกหลักร้อยบาทให้ประชาชนได้ซื้อ” นายสุทธิพลกล่าว