สมาคมแบงก์ ยกระดับธุรกิจการเงิน ปล่อยกู้อย่างยั่งยืน

นายผยง ศรีวณิช
ผยง ศรีวณิช

“ผยง” ประธานสมาคมธนาคารไทย ชี้ บทบาทสถาบันการเงินต้องจัดสรรทรัพยากรเงินให้ถูกทาง-ต้นทุนเหมาะสมไม่เป็นภาระสังคม-ผู้ประกอบการ พร้อมยึดกรอบความยั่งยืน-ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เผยโครงการคนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน เร่งยกระดับระบบนิเวศน์สังคมไทยสู่สังคมดิจิทัล

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวภายในงานสัมมนา “ภาคธุรกิจไทยในวิถี “ยั่งยืน” ที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ในหัวข้อ “วิถียั่งยืน ชุบชีวิตธุรกิจ-สังคม” ว่า บทบาทของสถาบันการเงิน โดยพื้นฐาน คือ การรับฝากเงิน การปล่อยกู้ และรับชำระเงิน

ดังนั้น สถาบันการเงินจะต้องบูรณาการเงินทุนให้ไปในถูกที่ถูกทาง และต้องตอบโจทย์ความยั่งยืน การเข้าถึง และในต้นทุนที่เหมาะสม และเพื่อสังคมให้มีความยั่งยืน โดยเป็นระบบยึดโยงทรัพยากรเงินทุน และระบบการชำระเงิน จ่ายเงิน-รับเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะต้องถูกไม่เป็นภาระของผู้ประกอบการ

และสถาบันการเงินจะต้องคำนึงถึงการยึดโยงกรอบการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) และการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible lending) ตามแนวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งต้องเดินคู่ขนานกับภาคประชาชน ภาคสังคม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ

อย่างไรก็ดี การจัดสรรทรัพยากรการเงิน เป็นโจทย์ที่ยาก เพราะระบบสถาบันการเงินฝั่งลึกและเกาะติดกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการก้าวข้ามในช่วงที่มีวิกฤตไปสู่ Digital Economy จาก Commerce เป็น Social Commerce และกำลังจะไปสู่ Digital Commerce โดยสถาบันการเงินจะต้องดูลูกค้าและคู่ค้าต้องแข็งแรงและสามารถผ่านพ้นบริบทที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป และก้าวข้ามไปสู่สังคม Digital Economy

ทั้งนี้ หากดูหลักของ ESG การได้มาของข้อมูลและการได้มาของลูกค้าจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและอยู่บนพื้นฐานความยั่งยืน โดยไม่มีสิทธิพิเศษนอกระบบ หรือการคำนึงถึงการใช้สิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้บูรณาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินจะต้องดูความสมดุลดังกล่าว และต้องสื่อสารไปยังนักลงทุน เพราะเป็นบริบทที่สังคมเฝ้าดูอยู่

ขณะเดียวกัน การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินภายใต้ Disruption หากยึดกรอบ ESG จะต้องไปสู่สังคม Sharing Economy เพื่อเชื่อมโยงชัพพลายเชน ตั้งแต่ระดับชุมชน การได้มาของภูมิปัญญา จะต้องได้แชร์ริ่งของมูลค่าเพิ่มในซัพพลายเชนนั้น โดยระบบธนาคารพาณิชย์จะเข้าไปช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาด โดยเฉพาะระบบการชำระเงิน จะต้องยึดโยงกันตั้งแต่ขั้นตอนชำระเงิน-จ่ายเงิน และการสั่งของให้ต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และตอบโจทย์ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

“ระบบการยึดโยงสถาบันการเงิน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ให้การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเหมาะสม และทำให้สังคมยังยั่งยืนยกระดับสังคมขึ้นมา และการที่มีระบบชำระเงินต้องทำให้เกิดกิจกรรมไปทุกส่วนของโครงสร้างเศรษฐกิจและการเข้าถึงระบบการเงิน”

นายผยง กล่าวต่อไปว่า การทำกิจกรรมวันนี้จะต้องมองไปในระยะยาวโดยยึดกรอบความคิดสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นตัวพื้นฐานสู่โครงสร้างพื้นฐาน และการเรียนรู้ และนำมาปรับใช้ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือ คนละครึ่ง จะเห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์ช่วยในเรื่องของระบบการชำระเงินเชื่อมต่อบนดิจิทัล และไปถึงทุกภาคส่วนไปสู่พ่อค้าแม่ค้าฐานราก ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานโครงสร้างธุรกิจต่อเนื่องให้สามารถอยู่ได้จนพ้นสถานการณ์โควิด-19 และหาสิ่งที่เหมาะสมกับ Digital Economy

และการสร้างกลไกการเข้าถึงโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นซื้อขายออนไลน์ Commerce และ Social Platform โดยจะต้องทำให้ภาคชุมชนเกิดการตระหนักรู้ถึงการค้าขายในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินที่พัฒนาโมบายแบงกิ้งและนำสินค้าชุมชนมาวางขายบนแพลตฟอร์มดังกล่าว

ซึ่งก่อให้เกิดการค้าขายแบบออฟไลน์และออนไลน์ หรือ Omni Channel หรือมีระบบหลายอย่างที่เข้ามาแทนระบบที่มีต้นทุนสูง เช่น เดลิเวอรี่ ที่จะเห็นว่ามีระบบเกิดใหม่หลายเจ้าที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ที่เดิมค่อนข้างแพงมาอยู่ในระดับศูนย์ แต่จะต้องเกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่มีส่วนร่วม

“เราจะมีบทบาทการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างการกระตุ้นใน Local Economy ได้อย่างไรเมื่อมีคนกลับบ้านไป จะมีอะไรกระตุ้นเขา ซึ่งจะต้องมีตัวช่วยหรือ Enabler ที่จะช่วยเพิ่มภูมิปัญญาผ่านระบบการชำระเงิน ต้นทุนการเงินที่เหมาะสม และการช่วยสร้างกลไกแพลตฟอร์มระยะยาวได้ ซึ่งเราเห็นสถาบันการเงินหลายๆ แห่งหันมาทำมากขึ้นเพื่อทดแทนของเก่าที่แพง หรือแม้กระทั่ง ความเร่งด่วนปัจจุบันที่บอกขาดดีมานด์ เราก็เข้ามาช่วยในเรื่องของโดเมตติกดีมานด์”