เทรนด์ธุรกิจประกันปี’64 แห่ขายสินค้า “สุขภาพ” ปั๊มเบี้ย

ธุรกิจประกันภัยเริ่มมองหาความหวังใหม่ในปี 2564 ที่กำลังจะมาถึงกันแล้ว หลังจากปี 2563 ที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ยอดขายรถยนต์ที่ตกต่ำ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ฯลฯ

โดย “นายสาระ ล่ำซำ” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ประเมินว่า สิ้นปี 2563 นี้ คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตจะหดตัว -2% ถึง -5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีเบี้ยรวมที่ 5.8-6 แสนล้านบาท หลังจากช่วง 9 เดือนแรกเบี้ยรวมทั้งระบบอยู่ที่ 4.29 แสนล้านบาท หรือหดตัว -3%

“นายอานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนแรก เบี้ยประกันวินาศภัยในระบบยังโตได้ 3.99% อยู่ที่ 1.86 แสนล้านบาท จากยอดขายใหม่ทั้งประกันสุขภาพรวมประกันโควิด ที่เพิ่มขึ้น 56.50% คิดเป็นเบี้ย 1.32 หมื่นล้านบาท และเบี้ยประกันข้าวนาปีอีก 1,000 ล้านบาท

เร่งเครื่องปั๊มเบี้ยโค้งสุดท้าย

“นายสาระ” คาดว่าไตรมาส 4 ธุรกิจประกันชีวิตจะได้อานิสงส์จากกระแสการลดหย่อนภาษีช่วงปลายปี และการเพิ่มขึ้นของยอดขายประกันสุขภาพที่คาดว่าสิ้นปีจะโต 9% จากปัจจุบันที่เติบโตแล้ว 8% หรือคิดเป็นเบี้ยที่ 6.5 หมื่นล้านบาท

“ธุรกิจหันไปขายสินค้าประกันสุขภาพกัน เพื่อหนีวิกฤตดอกเบี้ยต่ำ แต่ขนาดเบี้ยก็เล็กกว่าประกันออมทรัพย์เป็น 10 เท่า ส่วนเบี้ยประกันปีต่อ ก็มีกรมธรรม์ครบกำหนด และชำระเบี้ยครบแล้ว แต่ยังคงให้ความคุ้มครองอยู่จำนวนมาก แต่ยังไม่เห็นการผิดนัดชำระเบี้ยประกันอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการเก็บสวัสดิการเอาไว้”

ด้าน “นายอานนท์” ชี้ว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในช่วงที่เหลือปีนี้ เบี้ยรวมอาจจะไหลลง หลังยอดขายประกันโควิดทรงตัว อัตราเคลมประกันรถยนต์กลับมาเป็นปกติ จากที่ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 การเคลมลดลงกว่า 3-4% ส่งผลให้หลายบริษัทมีกำไรจากงานรับประกัน

ปี’64 แห่ชิงเบี้ยประกันสุขภาพ

สำหรับทิศทางธุรกิจปี 2564 นั้น “นายสาระ” มองว่า การเติบโตของประกันชีวิตคงสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ น่าจะได้แรงหนุนต่อเนื่องจากการที่คนเริ่มสนใจซื้อประกันสุขภาพ แต่จะถูกกดดันจากขนาดเบี้ยที่เล็ก ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินค้าประกันออมทรัพย์ในระบบยังมีสัดส่วนสูงกว่า 36% ของเบี้ยรวม แม้ว่าจะลดลงจาก 5 ปีก่อนที่มีสัดส่วน 50%

“เชื่อว่าสินค้าออมทรัพย์จะไม่หายไปทั้งหมด แต่จะน้อยลง และสินค้าที่จะเห็นมากขึ้น คือ โปรดักต์ที่สอดคล้องกับการลงทุนอย่างยูนิตลิงก์”

“นายสมโพชน์ เกียรติไกรวัล” ประธานที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการและสายงานตัวแทน บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต กล่าวว่า ปีหน้าบริษัทคาดว่าเบี้ยประกันปีแรกผ่านช่องทางตัวแทนจะโต 15% คิดเป็นเบี้ย 1,500 ล้านบาท จากแผนการเพิ่มตัวแทนรับการขยายงานอีก 1,200 คน เป็น 7,500 คน ซึ่งจะเน้นขายประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เพื่อเลี่ยงผลกระทบดอกเบี้ย

ขณะที่ฝั่งวินาศภัย “นายอานนท์” ระบุว่า ปีหน้ายังต้องติดตามอัตราการต่ออายุประกันโควิด-19 เนื่องจากเบี้ยส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย หากมีการต่ออายุหรือซื้อซ้ำน้อย คงต้องหันไปหวังยอดขายประกันโควิดต่างชาติแทน แม้ปีนี้ตั้งเป้าไว้ 5 แสนกรมธรรม์ แต่เข้ามาจริง ๆ แค่พันกว่ากรมธรรม์

“ปีหน้ารัฐบาลจำเป็นต้องเปิดประเทศ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ จึงน่าจะมีเบี้ยโควิดต่างชาติเข้ามา”

“นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน” กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันภัย กล่าวว่า คาดว่าเบี้ยรวมของบริษัทในปีหน้าจะโต 5% เป็น 2.37 หมื่นล้านบาท จากความหวังยอดขายรถยนต์ใหม่จะฟื้นรับนโยบาย “รถเก่าแลกรถใหม่” โดยคาดว่ายอดขายรถใหม่ปีหน้าจะกลับมาโตที่ 4-5% จากปีนี้ -25%

“บริษัทเตรียมเพิ่มเบี้ยใหม่ จากประกันสุขภาพ “Health IPD Plan” แบบเหมาจ่าย ไม่จำกัดวงเงินรักษาต่อครั้ง โดยจะเปิดตัวปีหน้า เบี้ยเริ่มต้น 9,000 บาท คุ้มครองสูงสุด 1 ล้านบาท เน้นขายผ่านออนไลน์และแพลตฟอร์มคู่ค้าวางเป้า 100 ล้านบาทภายในสิ้นปี 2564 และเจาะรายย่อย ส่งประกันมะเร็ง แบบเจอจ่ายจบ เบี้ยประกันคงที่ อายุต่ำกว่า 35 ปี เบี้ยเริ่มต้น 500 บาท คุ้มครองสูงสุด 1.2 แสนบาท”

“นายอภิสิทธิ์” ประเมินว่า ธุรกิจประกันปีหน้ายังมีความท้าทายจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่อาจนำไปสู่การชะลอเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชน และภาคท่องเที่ยวก็ยังรอเรื่องวัคซีนโควิด-19 ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีผู้เล่นรายใหม่กระโดดลงมาแข่งราคา โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัยรถยนต์ หลังจากปีนี้ อัตราการเคลมประกันรถยนต์ในอุตสาหกรรมลดลง

ชงลดหย่อนภาษีเพิ่ม

ส่วนการผลักดันเกี่ยวกับมาตรการจูงใจให้คนซื้อประกันสุขภาพมากขึ้นนั้น “นายอานนท์” บอกว่า จากที่ตนได้รับเชิญเข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการของวุฒิสภา ได้เสนอให้มีการลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ภาครัฐจะเทกแอ็กชั่นในเรื่องลดหย่อนภาษีอย่างไร ในท่ามกลางสภาวะที่รัฐบาลยังต้องกุมขมับเรื่องการหารายได้อยู่