แบงก์ปิดสาขาพุ่ง 338 แห่ง SCB นำโด่ง ลดต้นทุน-รับเทรนด์ดิจิทัล

แบงก์ปิดสาขา มากสุดไทยพาณิชย์

แบงก์แห่ปิดสาขาต่อเนื่อง โควิดตัวเร่ง ปี’63 ยอดลดพุ่ง 338 แห่ง “ไทยพาณิชย์” มากสุด เปิดสถิติย้อนหลัง 3 ปี สาขาแบงก์หายไป 430 แห่ง ชี้ช่วยลดต้นทุน-รับเทรนด์ดิจิทัล “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินปีนี้ยอดปิดสาขาชะลอ เน้นขยายช่องทางบริการผ่าน “แบงกิ้งเอเย่นต์-โมบายแบงกิ้ง-อีวอลเลต”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ยังคงลดสาขาลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 20 ม.ค. 2564 พบว่าจำนวนสาขาและจุดให้บริการธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบช่วงปี 2561-2563 ลดลงรวม 430 แห่ง

ในจำนวนนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีอัตราการลดลงของสาขามากที่สุด 247 แห่ง จากปี 2561 อยู่ที่ 1,101 แห่ง ลดเหลือ 854 แห่ง ในสิ้นปี 2563 รองลงมาคือ ธนาคารกรุงไทย (KTB) สาขาลดลงช่วงปี 2561-2563 จำนวน 135 แห่ง จาก 1,159 แห่ง เหลือ 1,024 แห่ง

ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ลดลง 101 แห่ง จาก 967 แห่ง เหลือ 866 แห่ง

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ลดลง 33 แห่งเท่ากัน โดยธนาคารกรุงเทพลดลงจาก 1,161 แห่ง เหลือ 1,128 แห่ง

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาลดจาก 716 แห่ง เหลือ 683 แห่ง

ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) สาขาปรับเพิ่มขึ้น 41 แห่ง จาก 416 แห่ง มาอยู่ที่ 457 แห่ง

ธนาคารธนชาต ที่ควบรวมกับทีเอ็มบีปรับลดสาขาลง 69 แห่ง จาก 513 แห่ง เหลือ 444 แห่ง

เฉพาะปี 2563 ปีเดียว แบงก์ปิดสาขารวมกันมากถึง 338 แห่ง โดยธนาคารไทยพาณิชย์ปิดสูงสุด 180 แห่ง รองลงมาคือธนาคารกรุงไทย 81 แห่ง ธนาคารธนชาต 51 แห่ง (ควบรวมกับทีเอ็มบีที่เปิดสาขาเพิ่ม 56 แห่ง) ธนาคารกสิกรไทยปิดไป 28 แห่ง ธนาคารกรุงเทพ 20 แห่ง และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 20 แห่ง

“โควิด” ตัวเร่งแบงก์ปิดสาขา

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปี 2564 คาดว่าจะไม่เห็นการปิดสาขาของธนาคารมากเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารทยอยปิดสาขาลงมาต่อเนื่องจำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน รวมถึงการปรับตัวตามพฤติกรรมของลูกค้าที่ไปสู่การใช้ดิจิทัลมากขึ้น

ช่วงที่ธนาคารลดสาขาลงจะเห็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไปสู่ความร่วมมือจัดตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์ (แบงกิ้งเอเย่นต์) ให้บริการลูกค้า มีจุดให้บริการครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงขยายบริการสู่โมบายแบงกิ้งและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ไม่กระทบการใช้บริการของลูกค้า

“ปีนี้สาขาแบงก์เราคงไม่เห็นลดฮวบ แต่จะเห็นการควบรวมสาขาแทน และขยายบริการสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพราะโมบายแบงกิ้งโตเยอะมาก การใช้วอลเล็ตต่าง ๆ ของคนไทยเพิ่มขึ้น เช่น g-Wallet ในอนาคตสาขาแบงก์น่าจะไปสู่ digital banking เหมือนต่างประเทศ”

“กรุงไทย” ชะลอปิดสาขา

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายเรื่องสาขาของกรุงไทยปีนี้คงชะลอปิดสาขา อาจปิดบ้างแต่ไม่มาก ต้องรอดูเรื่องการปรับตัวในบริบทความปกติใหม่ (new normal) ให้ชัดขึ้น อย่างไรก็ดีรูปแบบสาขาคงเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แบงก์ต้องหันไปใช้แบงกิ้งเอเย่นต์มากขึ้น ไม่ต้องเช่าสถานที่ ไม่ต้องมีห้องเก็บเงินที่ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนทางหนึ่ง

“ไม่ได้บอกว่าไม่ปิดและไม่ควบรวมสาขา แต่ปิดในสปีด (ความเร็ว) ที่ลดลง อยากดูบริบทการเปลี่ยนแปลง บางที่ควบรวมเสร็จต้องแปลงไปเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง เพราะบางสาขายังมีกิจกรรมสูง หลายแห่งอยู่ติดร้านกาแฟก็ปรับเป็นส่วนหนึ่งของโคเวิร์กกิ้งสเปซ เรายึดหลักไม่ปลดพนักงาน เพราะทรัพยากรบุคคลเป็นคุณค่าหลักขององค์กร” นายผยงกล่าว

นายพิชิต จงสฤษดิ์หวัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างเคาะตัวเลขการเปิด-ปิดสาขาในปี 2564 อยู่ จะเห็นการปิดสาขาไม่มากเมื่อเทียบกับปี 2562 ประกอบกับการใช้ดิจิทัลทำธุรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านจำนวนพนักงานมีนโยบายชัดเจนเรื่องไม่เอาคนออก โดยจะปรับเปลี่ยนหน้าที่ เพิ่มทักษะใหม่ให้พนักงาน ให้บางส่วนออกไปให้บริการลูกค้าในโครงการภาครัฐ

“กสิกรฯ” เน้นปรับรูปแบบสาขา

ส่วนธนาคารกสิกรไทย นางสาวศุภนีวรรณ จูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ปีนี้จะเน้นปรับปรุงรูปแบบสาขาให้สมดุล เหมาะกับความต้องการลูกค้า และอยู่ในพื้นที่ครอบคลุมลูกค้าที่ยังต้องการรับบริการทำธุรกรรม หรือคำแนะนำจากสาขาอยู่ ณ สิ้นปี 2563 ธนาคารมีสาขาทุกรูปแบบรวม 860 สาขา และไม่มีนโยบายปรับลดพนักงานจากปัจจุบันมีราว 2 หมื่นคน พนักงานสาขาและเครือข่ายบริการ รวมถึงทีมบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (RM) เป็นสัดส่วนที่เยอะที่สุด และยังไม่เปลี่ยนแปลง

“เราพัฒนาบุคลากรด้วยการปรับทักษะ (reskill) ทุกมิติ เช่น ทักษะด้านการขาย การใช้งานเทคโนโลยี เป็นต้น โดยเอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นการบริหารจัดการควบคุมความเสี่ยงให้ลูกค้ามั่นใจในทุกบริการ รวมถึงปรับรูปแบบสาขาให้สอดคล้องกับการขยายช่องทาง banking agent เพิ่มพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้น”

“แบงก์กรุงเทพ” มุ่งควบรวม

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แบงก์กรุงเทพจะเน้นควบรวมสาขาเข้าด้วยกันมากกว่าการปิดสาขา เนื่องจากสาขายังมีความจำเป็นในการดูแลลูกค้าบางกลุ่ม ดังนั้นการเปิด-ปิดสาขาจะเน้นพิจารณาตามพื้นที่การให้บริการและปริมาณธุรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากบางสาขายังถูกใช้เป็นพื้นที่สำนักงานธุรกิจที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าธุรกิจจึงยังจำเป็นอยู่ อย่างไรก็ตามจะมีการควบรวมสาขาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพในการให้บริการ

“กรุงศรี” ปิด-รวม 18 แห่งปีนี้

ส่วน นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนกลยุทธ์องค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แผนการเปิด-ปิดสาขาธนาคารจะประเมินตามสถานการณ์ปัจจุบัน ดูงบกำไรขาดทุน (P&L) และปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นในสาขา นำมาวิเคราะห์และวางแผนให้สอดคล้องกัน ปีนี้คาดว่าจะปิด โยกย้าย และควบรวมทั้งสิ้น 18 แห่ง ส่งผลให้จำนวนสาขาอยู่ที่ 652 แห่ง จากปี 2563 อยู่ที่ 670 แห่ง

“เราตั้งไว้ลดลงไม่เยอะ เพราะเราเน้นช่องทางบริการแบบ omni channel ซึ่งมีทั้งช่องทางที่เป็นสาขารูปแบบปกติ physical และเดินไปสู่ดิจิทัล”

ไทยใช้โมบายแบงกิ้งที่ 1 โลก

ด้าน นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite ระบุว่า ปี 2563 คนไทยทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 68.1% ต่อเดือน ซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 74% และใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ย 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน

แอปพลิเคชั่น K PLUS กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ลูกค้าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตอบรับกับไลฟ์สไตล์คนที่ลดการเดินทางออกนอกบ้าน เลี่ยงจับเงินสด ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ปี 2563 มีลูกค้าใช้งาน K PLUS มากถึง 5 ล้านรายต่อวัน มีจำนวนธุรกรรมรวมทุกประเภท 14,500 ล้านรายการ เติบโต 71% และมีผู้ใช้งานรวม 14.4 ล้านราย

โดยธนาคารกสิกรไทยและบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ได้วางโครงสร้างด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินปริมาณมหาศาลให้มีความปลอดภัย เพื่อรองรับการเติบโตของ K PLUS ในอนาคต ตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งาน K PLUS รวม 17.5 ล้านราย มีจำนวนธุรกรรมผ่าน K PLUS มากกว่า 24,600 ล้านรายการ ภายในปี 2564