เทรนด์ทองคำจะไปทางไหน… หลังเดือนกุมภาพันธ์ ราคาทรุด 6%

ทองคำ
Photo by SEBASTIAN DERUNGS / AFP

เดือน กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเดือนที่ราคาทองคำดิ่งลงค่อนข้างหนัก “แย่สุด” นับจาก พฤศจิกายน 2559

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG Bullion) เปิดเผยว่า ราคาทองคำเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564 ปิดดิ่งลง 37.47 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ปิดตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการปรับตัวลดลงราว -3% พร้อมกับปิดเดือน ก.พ. ด้วยการปรับตัวลดลงกว่า -6% ซึ่งเป็นเดือนที่แย่ที่สุด นับตั้งแต่เดือน พ.ย.2559 โดยราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) สหรัฐที่พุ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย

ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปีที่ 1.614% ในวันวันที่ 26 ก.พ. จากการคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ส่วนดัชนีดอลลาร์ขยับขึ้นทดสอบระดับสูงสุด 90.97 และปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% จากวันที่ 25 ก.พ. หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีเกินคาด

นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากแรงขายทางเทคนิคหลังจากราคาทองคำทำระดับต่ำสุดของปีนี้ครั้งใหม่ ซึ่งกระตุ้นแรงขาย (Sell stop)จนส่งผลให้ราคาทองคำทิ้งตัวลงแรง ด้านกองทุนทองคำโลก SPDR ถือครองทองลดลงในวันที่ 26 ก.พ. -6.70 ตัน

ปัจจัยทั้งหมดนี้ ได้กดดันให้ทองคำดิ่งลงอย่างหนักจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนครั้งใหม่บริเวณ 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะมีแรงซื้อหนุนให้ราคาลดช่วงติดลบในช่วงปลายตลาด

“สมาคมค้าทองคำ” ประกาศราคาทองคำในประเทศ วันที่ 1 มี.ค. (รอบแรก) ขยับขึ้น 100 บาท โดยทองคำแท่งในประเทศ ราคารับซื้ออยู่ที่บาทละ 25,100 บาท ขายออก 25,200 บาท ด้านราคาทองรูปพรรณ รับซื้ออยู่ที่บาทละ 24,650.16 บาท และขายออกที่ราคา 25,700 บาท ขณะที่ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) อยู่ที่ 1,747.50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

ขณะที่ “ศิริลักษณ์ ปโกฏิประภา” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส  วิเคราะห์ว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ราคาทองคำปรับตัวลงแรง หลุด 1,760 ดอลลาร์ ที่เป็นจุดต่ำสุดของปีนี้

ขณะที่แนวโน้มราคาทองคำในระยะสั้นหลังจากนี้ มองว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ถ้าฟื้นแรงก็ต้องระวังแรงเทขาย เพราะราคาทองคำทางเทคนิคตอนนี้ยังเคลื่อนไหวเป็นขาลงอยู่ โดยมีแนวต้านที่ 1,760 ดอลลาร์ ถ้าผ่านไปได้แนวต้านต่อไปอยู่ที่ 1,780 ดอลลาร์ ส่วนแนวรับ 1,717 ดอลลาร์ และ 1,700 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่ง มองแนวรับที่ 24,800 บาท และ 24,600 บาท ส่วนแนวต้าน 25,250 บาท และ 25,550 บาท

ในสัปดาห์นี้ (1-5 ก.พ.) มีประเด็นที่ต้องติดตามคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่น่าจะเป็นปัจจัยบวกกับทองคำได้ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็มี อาทิ การเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ 12 เขตของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งอาจจะออกมาเป็นปัจจัยบวกหรือลบก็ได้ และ ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐเดือน ก.พ. ที่จะสร้างความผันผวนให้กับราคาทองคำได้

“กลยุทธ์ลงทุนทองคำแท่ง ถือว่าตอนนี้ราคาค่อนข้างต่ำ ถ้าจะเล่นสั้นเก็งกำไรการฟื้นตัวก็ทำได้ ส่วนราคาฟิวส์เจอร์เก็งกำไรการฟื้นตัวที่ 1,717 ดอลลาร์ และ จุดขายตัดขาดทุนที่ 1,700 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ในส่วนทิศทางค่าเงินบาท มองว่าน่าจะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ก็อาจจะเป็นปัจจัยบวกกับทองแท่งในประเทศได้บ้าง โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังจากบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทแนวต้านอยู่ที่ 30.50-30.60 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับประมาณ 30.30 บาท” นางสาวศิริลักษณ์กล่าว

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังเต็มไปด้วยความผันผวนนี้ ผู้ลงทุนคงต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆอย่างใกล้ชิด