สบน. ยันปีงบ’64 หนี้สาธารณะ 56% ไม่สูงเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง

สบน. ยันหนี้สาธารณะปีงบ’64 อยู่ที่ 56% ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่สูงเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง ชี้หนี้ 8.1 ล้านล้านบาท ไทยแบกภาระหนี้สาธารณะเพียง 6.3 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่จำนวน 8.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 51.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยืนยันว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยในปีงบประมาณ 2564 นี้ จะอยู่ที่ประมาณ 56% ตามกรอบความวินัยการเงินทางการคลังไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ซึ่งสาเหตุที่ระดับหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 40% เป็นเพราะการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้เพื่อดูแลสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากเงินในงบประมาณในปี 2564 ไม่เพียงพอ

“เราใช้นโยบายการบริหารหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบ เพราะเคยมีประสบการณ์การกู้ต่างประเทศ ซึ่งทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นมาก โดยในช่วงตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ไทยได้มีการตั้งกรอบหนี้สาธารณะไว้สูงถึง 65% ต่อจีดีพี ตอนนี้ก็มีการปรับกฎหมายหลายตัวเพื่อให้รัฐบริหารหนี้อย่างรอบคอบ และลดกรอบหนี้สาธารณะมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ตอนนี้ถือว่าไทยยังมีเครดิตดี เพราะเราบริหารได้ดี และสถานะการคลังยังแข็งแกร่ง”

พร้อมกันนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะของไทยสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ตลาดเกิดใหม่และประเทศในเอเชียเฉลี่ยการก่อหนี้อยู่ที่ 67% จากเดิมอยู่ที่ 60% ในขณะที่ประเทศไทย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 การก่อหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 56%

“หากคิดตามจำนวนหนี้สาธารณะทั้งหมด 8.1 ล้านล้านบาท จริงๆ แล้วหนี้สาธารณะของไทยที่รัฐบาลจะต้องแบกรับมีเพียง 6.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 77% โดยเป็นการกู้ตรง และจากการกู้ที่รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้พิเศษ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินที่รัฐวิสาหกิจกู้มา ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้ชำระหนี้ด้วยตัวเองไม่กระทบหนี้สาธารณะภาพรวม ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติหากมีการก่อหนี้ถึง 60% จะถือว่าประเทศมีความเสี่ยงมาก แต่ในช่วงโควิด-19 แม้เพดานหนี้จะดันสูงก็ไม่น่าห่วง เพราะการกู้เงินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะทำให้จีดีพีไม่หดตัวลง”