ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.07-31.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.40/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (14/6) ที่ระดับ 31.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (11/6) ที่ระดับ 31.08/10 บาท/

ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังจากเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (11/6) ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 86.4 ในเดือนมิถุนายน สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 84.0 จากระดับ 82.92 ในเดือนพฤษภาคม โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในสหรัฐ และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการจ้างงาน

แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้เคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากที่นักลงทุนได้ชะลอการซื้อขายก่อนที่การประกาศผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีขึ้นในวันที่ 15-16 มิถุนายนี้

ท่ามกลางการจับตาการปรับตัวเลขประมาณการด้านเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย, อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงานในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะมีขึ้นหลังการเสร็จสิ้นการประชุม

แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งขึ้นในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (17/6) ที่ผ่านมา หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

โดยเฟดได้ส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 หลังจากสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ดีขึ้นและผลกระทบของวิกฤตดังกล่าวต่อสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มลดลง ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในการประชุมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567

โดยเจ้าหน้าที่ Fed จำนวน 11 สาขา จากทั้งหมด 18 สาขา ได้ให้ความเห็นว่าควรจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566 ขณะที่ความเห็นในแถลงการณ์จากที่ประชุมระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สนับสนุนการฟื้นตัวของการจ้างงานในประเทศในระยะนี้ไว้ พร้อมทั้งได้มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศจะปรับตัวเหนือระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐที่ 2% เป็นเวลา 3 ปี

โดยเฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2564 นี้ สู่ระดับ 3.4% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมีนาคมที่ระดับ 2.4% และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ระดับ 2.1% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ พร้อมทั้งเฟดยังคงจะดำเนินการซื้อคืนพันธบัตรมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละเดือนดังเดิมต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้เปิดเผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้แก่ ยอดค้าปลีกประจำเดือนพฤษภาคม ได้ปรับตัวลดลง 1.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเมษายน และได้ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.8%

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหารได้ปรับตัวลดลง0.7% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนเมษายน นอกจากนี้ได้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กได้เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ลดลง 7 จุด สู่ระดับ 17.4 ในเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันและต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 23.0

นอกจากนี้กระทรวงแรงานสหรัฐ ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) (มาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต) ได้ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 6.6% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2553 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.3%

เช่นเดียวกับ ดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.3% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2557 เช่นกัน

อีกทั้ง Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวขึ้น 1.3% สู่ระดับ 114.5 ในเดือนพฤษภาคม โดยดีดตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ แต่ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐสาขาฟิลาเดลเฟีย ได้เปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ร่วงลงเป็นเดือนที่ 2 โดยปรับตัวลงสู่ระดับ 30.7 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 3.5 ในเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.07-31.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 31.40/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (14/6) ที่ระดับ 1.2110/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/6) ที่ระดับ 1.2106/08 โดยในช่วงต้นสัปดาห์ได้มีการเปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนประจำเดือนเมษายนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.4%

แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าอย่างหนักต่ำกว่าระดับ 1.1900 ดอลลาร์สหรับ/ยูโร จากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดในปี 2566 แม้ว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (16/7) ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนประจำเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 2.0% ตามที่คาดการณ์ไว้

อีกทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.9% ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1885-1.2149 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 1.1915/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (14/6) ที่ระดับ 109.64/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/6) ที่ระดับ 109.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงท้ายสัปดาห์จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดในปี 2566 นอกจากนี้ในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา (18/6) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีมติคงนโยบายการเงินซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0%

โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.60-110.83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 110.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ