“ดอลฟิน” รุกขายประกัน ชูบริการการเงินดิจิทัลครบเครื่อง

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังเปิดให้บริการระบบชำระเงิน (payment) และสินเชื่อดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชั่น “Dolfin” ไปแล้ว จิ๊กซอว์ตัวต่อไปที่ทาง “บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด” ได้เพิ่มเข้ามา เพื่อสร้างรายได้ให้ธุรกิจต่อไปในอนาคต ก็คือการเป็น “นายหน้าขายประกัน” หรือ “โบรกเกอร์ประกัน” ผ่านแอป ซึ่งจะทำให้แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลนี้มีความครบเครื่องมากขึ้น ตามโพซิชั่นที่บริษัทได้วางไว้ คือ การเป็น “Financial Platform Provider” ที่เข้าถึงง่าย

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “กรกนก เฟื่องฟุ้ง” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและวางแผนของ “เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง” ถึงแผนธุรกิจในระยะต่อไป

2 บริการหลักปั๊มรายได้ผ่านแอป

โดย “กรกนก” กล่าวว่า ปัจจุบันบนแอป “Dolfin” ได้เปิดให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ซึ่งเป็นระบบชำระเงินที่จะสร้าง engagement (ความผูกพันกับแบรนด์) ให้กับลูกค้าในระยะยาว ปัจจุบันมีอัตราการใช้งาน (active rate) ราว 40-50% ต่อเดือน

โดยช่องทางที่จะสร้างรายได้หลักมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ การให้บริการสินเชื่อดิจิทัล ที่ได้ทำงานร่วมกับ 2 ธนาคารพันธมิตรหลัก คือ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยลูกค้าสามารถเข้ามาขอสมัครวงเงินสินเชื่อผ่านแอป ด้วยขั้นตอนที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งทางบริษัทก็สนับสนุน big data (ข้อมูลขนาดใหญ่) underwriting (การรับประกัน) ผ่านการทำ credit scoring เพื่อให้แบงก์อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

“ปัจจุบันมีลูกค้าสนใจสมัครขอสินเชื่อดิจิทัลเข้ามาแล้วราว 1 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 3-5 หมื่นล้านบาท อนุมัติผ่านประมาณ 10-15%”

อีกส่วนหนึ่งก็คือ การให้บริการสินค้าประกันภัย ซึ่งหลังจากยื่นขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) การประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์ประกัน) จากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และได้รับอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“โบรกเกอร์ประกันภัยถือเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของเครือเซ็นทรัล เจดี ฟินเทค ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อจากนี้ เบื้องต้นเราวางโปรดักต์ที่จะขายเป็น 3 แกนหลัก คือ แกนที่ 1 สินค้าคุ้มครองทรัพย์สิน (asset protection) โดยตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 เราจะเริ่มขึ้นระบบวางขายประกันรถยนต์บนแอป “Dolfin” ให้ส่วนลดสูงสุด 40% สำหรับลูกค้า “The1” ซึ่งปัจจุบันได้พูดคุยกับบริษัทประกันวินาศภัยเกือบหมดแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงเชื่อมต่อระบบหลังบ้าน คาดว่าประมาณ 6-7 บริษัทจะเริ่มขายได้ก่อน”

ประเดิมขายประกันรถยนต์

“กรกนก” กล่าวอีกว่า การขายประกันรถยนต์จะใช้ประโยชน์ผ่านการเชื่อมระบบนิเวศ (ecosystem) ในเครือเซ็นทรัล ซึ่งในแต่ละปีจะเห็นลูกค้าที่ขับรถเข้ามาใน ecosystem นี้ ประมาณ 8 ล้านรายจึงเริ่มทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data analytic) ร่วมกับบริษัทประกันพันธมิตร โดยประเมินบนโปรไฟล์ของลูกค้าแต่ละราย และคาดการณ์ค่าสินไหมทดแทน (loss ratio) เพื่อทำราคาเบี้ยประกันเฉพาะบุคคล (personalized pricing)

“สิ่งที่เราเห็นจากการทำ big data analytic คือ ลูกค้าบางคนขับรถมาช็อปปิ้งช่วงเวลารถไม่เยอะเป็นประจำ แสดงว่าโอกาสชนจะน้อย หรือบางคนเป็นกลุ่มครอบครัวและมีเด็กเล็ก จะมีความระมัดระวังในการขับขี่มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถกำหนดราคาเบี้ยได้ตรงมากขึ้น”

อีกโปรดักต์หนึ่ง คือ ประกันคุ้มครองสินค้า (purchase protection) ยกตัวอย่างลูกค้าซื้อสินค้าในเพาเวอร์บาย (Power Buy) อาทิ มือถือ, ตู้เย็น เป็นต้น ซึ่งปกติจะมีการรับประกันสินค้าให้อยู่แล้วจากทางแบรนด์ แต่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสาเหตุการพัง

ดังนั้นเพื่อลดความกังวล บริษัทจะแนะนำความคุ้มครองเพิ่มเติมเข้าไป โดยมีแผนจะเริ่มขึ้นระบบวางขายช่วงไตรมาส 1 ปี 2565

เจาะกลุ่มครอบครัว-คนรุ่นใหม่

ต่อมา แกนที่ 2 สินค้าคุ้มครองชีวิตและคนที่รัก (self and love protection) คาดว่าประมาณไตรมาส 4 ปีนี้ จะเริ่มขึ้นระบบวางขายประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ โฟกัสเจาะ 2 เซ็กเมนต์ใหญ่ในเครือเซ็นทรัล คือ 1.กลุ่มลูกค้าครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 ล้านครอบครัว 2.กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีกิจกรรมชอบเล่นกีฬาและท่องเที่ยว โดยจะพัฒนาโปรดักต์เฉพาะขึ้นมาให้ตอบโจทย์ตามไลฟ์สไตล์ เป็นลักษณะไมโครอินชัวรันซ์ คิดเบี้ยไม่แพง

“ข้อดีที่เราเป็น digital payment platform คือ เราสามารถเปิดให้ลูกค้าชำระเบี้ยประกันเป็นรายเดือนได้ หรือจะยกเลิกทำใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะต้นทุนในการนำเสนอโปรดักต์ไม่แพงเหมือนกับขายผ่าน direct sale หรือ telesale โดยตอนนี้อยู่ในช่วงทดสอบโปรดักต์กับอินชัวรันซ์พาร์ตเนอร์”

2 โปรดักต์ประกันคุ้มครองภาระ

“กรกนก” กล่าวอีกว่า ส่วน แกนที่ 3 สินค้าคุ้มครองภาระ (burdern protection) ที่จะมี 2 โปรดักต์ คือ 1.ประกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (cybercrime) ซึ่งปัจจุบันลูกค้าจะนิยมผูกบัตรเครดิตไว้กับแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ทำให้อาจโดนแฮกได้ และ 2.ประกันคุ้มครองหนี้ (debt protection) ซึ่งจะเชื่อมต่อไปกับสินเชื่อดิจิทัลที่ลูกค้าสมัครขอวงเงินเข้ามา หากลูกค้ากังวลกับภาระหนี้ก็จะเข้าขายโปรดักต์ตัวนี้ได้ ซึ่งเป็นอีกเซ็กเมนต์หนึ่งของไมโครอินชัวรันซ์ที่เบี้ยถูก โดยทั้ง 2 โปรดักต์จะเริ่มขึ้นระบบวางขายประมาณไตรมาส 4 ปีนี้

“เราเป็นแอปพลิเคชั่น provider financial service ให้กับลูกค้า ดังนั้น เราเห็น 2 โปรดักต์ที่มีโอกาสขยายตลาดได้ คือ ประกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และประกันคุ้มครองหนี้”

ตั้งเป้าโกยเบี้ยประกัน 700 ล้าน

“กรกนก” กล่าวว่า คาดว่าสิ้นปี 2564 บริษัทจะมีเบี้ยประกันเข้ามาได้ประมาณ 500-700 ล้านบาท หลัก ๆ จากเบี้ยประกันรถยนต์ ส่วนโปรดักต์อื่น ๆ ขนาดเบี้ยไม่สูง แต่จำนวนรายจะเข้ามามาก โดยคาดฐานลูกค้าเบื้องต้นประมาณ 1-1.5 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในเครือเซ็นทรัล

“ในการขายโปรดักต์ เราจะร่วมมือกับอินชัวรันซ์พาร์ตเนอร์ทำ preselection ให้ก่อน โดยใช้ big data ที่มีการสร้างโมเดลคาดการณ์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้า (propensity model to buy) ขึ้นมา ว่าเซ็กเมนต์ลูกค้าเป็นกี่กลุ่ม ความต้องการลูกค้าคืออะไร โดยเราจะไม่หยิบ standard product มาวางขายเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกสินค้าที่คุ้มค่าอาจจะหมายถึง จ่ายความคุ้มครองแบบเดิมในราคาที่ถูกกว่า หรือจ่ายในราคาเดิมแต่ได้ความคุ้มครองที่มากกว่า คือ เราจะมีระบบประมวลผลหลังบ้าน ว่าโปรดักต์ตัวไหนที่เหมาะสมกับลูกค้า” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและวางแผนของ “เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง” กล่าวในที่สุด