ธปท. เผยโควิดฉุดการบริโภคเอกชน พ.ค. หดตัว -3.1% ต่อเนื่องเดือนที่สอง

ธปท.ชี้เศรษฐกิจเดือนพ.ค.64 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชัดเจนขึ้น การบริโภคหดตัว -3.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง การลงทุนภาคเอกชน -2.3% ฉุดความเชื่อมั่นดิ่ง เผยการส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐช่วยพยุง

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม พบว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยหดตัว -3.1% เมื่อเทียบเดือนก่อน เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อนื่อง แม้ว่าจะมีมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยพยุงบางส่วน โดยการบริโภคเป็นการปรับลดลงทุกหมวด เช่น สินค้าคงทน ยานยนต์และจักรยานยนต์ปรับตัวลง ขณะที่การบริโภคภาคบริการ เช่น ภัตตาคาร โรงแรม ปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง -2.3% จากเดือนก่อน โดยปรับลดลงต่อเนื่องทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งจากเดิมมีอัตราการเติบโตได้ดีจากการนำเข้า แต่ปัจจุบันเริ่มลดลงเช่นเดียวกับหมวดก่อสร้างมีสัญญาณปักหัวลง เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ และราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงต่ำกว่า 50 ในรอบ 3 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ธปท.ต้องจับตาต่อไป

ส่วนตลาดแรงงานยังเปราะบางต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการอาชีพอิสระยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางด้านรายได้ เช่นเดียวกับลูกจ้างในบางสาขาธุรกิจมีรายได้ลดลง โดยธปท.ได้มีการสำรวจจากข้อมูลเร็ว และจากการสอบถาม จากข้อมูล ณ วันที่ 21 มิ.ย.64 พบว่า กลุ่มแรงงานภาคผลิต โดยเฉพาะโรงงานที่อยู่ในพื้นที่มีการระบาดได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้มีการย้ายฐานการผลิต กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ บางพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ขณะที่ภาคการค้าเริ่มเห็นการปลดพนักงาน และมีรายได้ลดลง เช่นเดียวกับภาคบริการมีการปรับรูปแบบการจ้างงาน ซึ่งภาพตลาดแรงงานที่เปราะบางจะส่งผลต่อการบริโภคได้

Advertisment

สำหรับดัชนีชี้วัดที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในเดือน พ.ค. พบว่า การส่งออกยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยเดือน  พ.ค. มีอัตราการขยายตัว 0.4% จากเดือนก่อน เป็นการปรับตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า โดยหมวดการส่งออกที่ขยายตัวจะเป็นการส่งออกเกษตร ผลไม้ไปจีน หรือสินค้าที่เคลื่อนไหวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์หรือราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดที่ได้รับผลกระทบจะเป็นเกษตรแปรรูปมาจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตล้อไปด้วยกัน

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 4.2% ทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายการลงทุน โดยรายจ่ายลงทุนรัฐบาลกลาง (ไม่รวมเงินโอน) ขยายตัวอยู่ที่ 6.0% ซึ่งมาจากหน่วยงานชลประทาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ -2.9%

ส่วนเสถียรภาพทางด้านต่างประเทศ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญา และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญจากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากฐานที่ต่ำ

ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในเดือนพ.ค.64 เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าจากนักลงทุนที่มีการคลายความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะผ่อนคลายนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาค ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งอ่อนค่า ส่วนล่าสุดที่เห็นเงินบาทอ่อนค่าเร็วมาจากท่าทีของเฟดต่ออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงปัจจัยการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศด้วย

Advertisment

“ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนพ.ค.เครื่องชี้วัดได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการระบาดรอบ 3 แต่มีมาตรการภาครัฐที่เข้ามาพยุงอยู่ อย่างไรก็ดี ความเร็วในการจัดหาและกระจายวัคซีนยังเป็นตัวแปรสำคัญ โดยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจเราต้องมองเผื่อไว้ระดับหนึ่ง เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงค่อนข้างมาก ขณะที่ประเด็นการจ้างงานยังเป็นสิ่งที่เราติดตามมาตลอด หากรายได้แรงงานลดลง จะมีผลต่อภาคการบริโภค ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อเศรษฐกิจ และแรงงานที่ว่างงานชั่วคราวกลายมาเป็นแรงงานที่วางงานระยะยาวมากขึ้น อาจจะเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจได้”