ตลาดทุนจี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินใหม่ ยืดล็อกดาวน์ทุบความเชื่อมั่นทรุด

หุ้นไทย ตลาดหุ้น
FILE PHOTO :MANAN VATSYAYANA/AFP

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรง จนรัฐบาลต้องขยายล็อกดาวน์เข้มข้นเพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนอย่างปฏิเสธไม่ได้

โดย “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แถลงว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ยังยืนบวกได้ที่ 5% เพราะปีที่แล้วตลาดหุ้นไทย underperform (ผลงานไม่ดี) แต่ผลตอบแทนเฉพาะเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ติดลบไป 4.1%

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 64.37 ปรับตัวลดลง 39.3% มาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” และ “ต่ำสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน” จากการระบาดของโควิดที่รุนแรงน่าเป็นห่วง, การบริหารวัคซีนที่ล่าช้าและความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

โดยนอกจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ไม่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยแล้วปัจจุบันเงินจากไทยก็ไหลออกไปด้วย ปัจจุบันกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท เฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศประมาณ 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปลายปี 2562 ที่อยู่แค่ 2.2 แสนล้านบาท

“สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยทยอยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศจากแนวโน้มตลาดหุ้นไทยไม่มีหุ้นใหม่ ๆ เข้ามาเป็น new economy ขณะที่ภาพเศรษฐกิจและการควบคุมการระบาดโควิดไม่ดี”

คาดจีดีพีครึ่งปีหลังติดลบ

“ไพบูลย์” กล่าวว่า บล.ทิสโก้ได้ประเมินผลกระทบจากการขยายล็อกดาวน์ว่าช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าภาวะถดถอยสูงมาก ช่วงครึ่งปีหลังน่าจะติดลบ 0.4% ขณะที่ทั้งปี 2564 เศรษฐกิจจะโตได้แค่ 0.6% เท่านั้น

“เชื่อว่าน่าจะต้องล็อกดาวน์ตลอดเดือน ส.ค. เพราะดูท่าทีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ลดลง เข้าขั้นวิกฤตอย่างมาก ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐยังทำน้อยและช้าไปมาก ยังเป็นมาตรการเดิม ๆ ซึ่งวันนี้มีความจำเป็นต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ มองยาวไปจนหากคุมสถานการณ์โควิดรอบนี้ได้ ต้องทำให้กำลังซื้อกลับมาได้ทันที ควรเพิ่มปริมาณเงินใส่เข้าไป เพื่อให้เศรษฐกิจมีโมเมนตัมที่ดีขึ้น”

จี้อัด 5 แสนล้านในสิ้นปีนี้

“ไพบูลย์” กล่าวอีกว่า สำหรับเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท จากกฎหมายกู้เงินเพิ่มเติมที่ออกมาแล้ว ควรใส่ลงไปในระบบในช่วงครึ่งปีหลังให้หมด และควรขยับเพดานหนี้สาธารณะเตรียมรองรับไว้

ขณะที่ในปี 2565 ควรต้องเตรียมการกู้เงินเพิ่มเพื่อเป็นการกระตุ้นรอบใหม่เพื่อฟื้นฟู สร้างงานด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ภาคท่องเที่ยว เพื่อยกระดับฐานะให้เป็นประเทศท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เตรียมพร้อมรองรับการเปิดประเทศที่แข็งแรงกว่าเดิม

จ่อปรับเป้ากำไรบริษัทจดทะเบียนฮวบ

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวด้วยว่า ในช่วงไตรมาส 3 นี้ หลายสำนักคงมีการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ลงแน่นอน ขณะที่ความเคลื่อนไหวของดัชนี SET Index คาดว่าเป้าสิ้นปี 2564 คงยืนอยู่บริเวณ 1,600 จุดไม่สามารถทะลุได้

“มองการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ต่ำมาก เพราะเชื่อว่าการทยอยฉีดวัคซีนคนไทย จะทำให้ช่วงไตรมาส 4 จะค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัวได้ แม้ภาพส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากช่วงครึ่งปีแรก”

กนง.ยังไม่ปรับดอกเบี้ย

“อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 4 ส.ค.นี้ อยู่ที่ระดับ 47 ไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้นน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทำให้ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลง

ขณะที่ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์)5 ปี และ 10 ปี สิ้นไตรมาส 3/2564 ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยปัจจุบันบอนด์ยีลด์ 5 ปี อยู่ที่ 0.8% และ 10 ปี อยู่ที่ 1.57% ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% จากปลายปี 2563

ทั้งนี้ จนถึง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดบอนด์ยอดสะสมอยู่ที่ 72,845 ล้านบาท แต่ในเดือน ก.ค. ไหลออกสุทธิ 9,047 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันยังเป็นยอดซื้อสุทธิสะสมอยู่กว่า 63,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อบอนด์ที่อายุมากกว่า 1 ปี ส่วนบอนด์ระยะสั้นเป็นการปล่อยให้หมดอายุ

“เหตุผลที่เงินยังไหลเข้าตลาดบอนด์ไทย เป็นเพราะผลตอบแทนที่แท้จริง (real yield) ของไทยยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ดี ช่วงที่เหลือของปียังคาดการณ์ทิศทางฟันด์โฟลว์ได้ยาก”

หุ้นกู้ยังไปได้ดี

สำหรับยอดออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่ากว่า 604,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันก่อน โดยยอดการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นทุกเดือน ในเดือน มิ.ย. ทำสถิติสูงสุดของปีนี้อยู่ที่ 130,000 ล้านบาท ขณะที่เดือน ก.ค. อยู่ที่ 90,000 ล้านบาท

“คาดว่าปีนี้บริษัทเอกชนไทยจะเข้าระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ 8.5- 9 แสนล้านบาท ภายใต้สถานการณ์ล็อกดาวน์ที่ไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว โดยหุ้นกู้สามารถจองซื้อผ่านออนไลน์ได้ และ ยังมีช่องทางธนาคารที่ไม่ได้ปิด สามารถไปซื้อได้ ขณะที่หุ้นกู้รายใหญ่ก็ยังไม่ได้มีปัญหาเรื่องการระดมทุนแต่อย่างใด”

ทั้งหมดนี้ เป็นภาพผลกระทบจากปัญหาโควิดที่ยืดเยื้อ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดทุนไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้