3 แบงก์ เปิดบริการ “ชำระเงินผ่าน QR Code ไทย-อินโดนีเซีย”

ธนาคารกรุงเทพ-กรุงศรีอยุธยา-ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นตัวแทนในการชำระดุลร่วมเปิดให้บริการ “ชำระเงินผ่าน QR Code” ระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธปท.-ธนาคารกลางอินโดนีเซีย หนุนการชำระค่าสินค้าบริการ 

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าร่วมให้บริการเป็นธนาคารแรก และทำหน้าที่เป็น Settlement Bank (ธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) ในการให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย โดยบริการ Cross-Border QR Payment เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) เพื่อให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้ง Ecosystem ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาคด้วยการส่งเสริมที่ดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจสถาบันการเงินในประเทศไทย ขณะเดียวกันนับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างประสบการณ์ที่ดี และช่วยลดต้นทุนทางการเงินระหว่างประเทศ

ภายใต้การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินดังกล่าว ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สแกนเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงลูกค้าของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียที่เข้าร่วมบริการ เช่น Permata Bank เป็นต้น สามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ในประเทศไทยได้อย่างสะดวกและปลอดภัยเช่นกัน ทั้งยังลดความยุ่งยากในการแปลงสกุลเงิน เนื่องจากลูกค้าจะชำระเป็นเป็นสกุลเงินของประเทศตัวเองและร้านค้ารับเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศตัวเองเช่นกัน นอกจากนี้ลูกค้าผู้ชำระเงินจะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าการชำระด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต

สำหรับระบบ QR Payment ถือเป็นรูปแบบการชำระเงินที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางและเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับชำระเงินของร้านค้าต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากสามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจร้านค้าช่วยให้ไม่พลาดโอกาสการขายกรณีที่ลูกค้าอาจไม่ได้พกเงินสดไว้เพียงพอต่อการซื้อสินค้า ขณะที่ผู้บริโภคคุ้นชินในความสะดวกสบายของการทำธุรกรรมผ่าน QR Code เพิ่มมากขึ้น เพราะมีร้านค้าที่พร้อมให้บริการเป็นจำนวนมาก และช่วยลดการสัมผัสเงินสดซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อีกด้วย โดยในประเทศไทยมีปริมาณธุรกรรมผ่าน Thai QR Payment ในปี 2563 มากถึง 13.39 ล้านรายการซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2562 ถึง 49.14%

นางพรนิจ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน อาจยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวหรือติดต่อธุรกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้น บริการ Cross-Border QR Payment อาจจะตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้เฉพาะกลุ่ม เช่น ชาวอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือชาวไทยที่ทำงานในอินโดนีเซีย รวมถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง คาดว่าการเดินทางและการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญหรือเมืองเศรษฐกิจ และเชื่อมั่นว่าบริการ Cross-Border QR Payment จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรม New Normal ที่ลดการสัมผัสสิ่งของต่างๆ และหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

“การให้บริการ Cross-Border QR Payment สำหรับประเทศไทยและประเทศอินโดนิเซียในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการพัฒนาการให้บริการ Cross-Border QR Payment ผ่านช่องทาง Mobile Banking ของธนาคารอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ริเริ่มการให้บริการสำหรับประเทศไทยและเวียดนาม ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารกรุงเทพในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านระบบการชำระเงินข้ามประเทศในระดับภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมชำระเงินให้แก่ลูกค้า สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการเป็น “ธนาคารผู้นำระดับภูมิภาค” อีกด้วย” นางพรนิจ กล่าว

กรุงศรีฯ จ่อขยายพันธมิตรเพิ่ม 

นางยิ่งลักษณ์ คงคาสัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกรรมการเงิน กลุ่มงานธุรกรรมการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “นวัตกรรมบริการ cross-border QR payment เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน หรือ ASEAN Payment Connectivity ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอื่นในภูมิภาค ASEAN เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาค อีกทั้งยังสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกรุงศรีในการมุ่งขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางของธนาคาร 

โดยกรุงศรีใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญที่มีในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการทางการเงินของลูกค้าในยุคปัจจุบัน ให้ลูกค้าคนไทยสามารถใช้กรุงศรี โมบาย แอปพลิเคชัน (KMA) สแกนคิวอาร์ของร้านค้าเพื่อจ่ายค่าสินค้าและบริการในอินโดนีเซียได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งลูกค้าจะเห็นยอดการชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท รู้อัตราแลกเปลี่ยนทันทีด้วยอัตราพิเศษกว่าการชำระด้วยบัตรเครดิต ขณะเดียวกันลูกค้าของธนาคารในอินโดนีเซียก็สามารถใช้โมบายแอปพลิเคชันที่ร่วมให้บริการในการสแกนจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ ในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน ทำให้การทำธุรกรรมข้ามประเทศเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น”

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงไม่สามารถเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศได้ นวัตกรรมบริการ cross-border QR payment นี้จะตอบโจทย์การใช้งานในกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ทำงานในอินโดนีเซียและชาวอินโดนีเซียที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นหลัก และหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กรุงศรีเชื่อมั่นว่าบริการดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์การใช้งานกลุ่มลูกค้ารายย่อยได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งกรุงศรีพร้อมผลักดันให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง

“นอกจากนวัตกรรมบริการ cross-border QR payment ระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยแล้ว กรุงศรีกำลังเร่งพัฒนาความร่วมมือในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศผ่านธนาคารพันธมิตรภายใต้เครือข่ายของ MUFG เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำธุรกรรมการค้าระหว่างไทยและอินโดนีเซียให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งคาดว่าสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในไตรมาสที่ 4/2564 นี้ อีกด้วย”

ก่อนหน้านี้ กรุงศรีประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำในการทำธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ซึ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าคนไทยในการชำระเงินผ่านโมบายแอปพลิเคชันด้วยการสแกนคิวอาร์ และยังเตรียมขยายไปประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

CIMBT เปิดให้บริการก.ย.นี้ 

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า อินโดนีเซีย ร่วมให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็น 1 ใน 3 ธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจในระดับภูมิภาคอาเซียนให้เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการชำระดุล (Settlement Bank) ของประเทศไทย ในการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จะเริ่มให้บริการเดือนกันยายน 2564

คนไทยที่เดินทางไปอินโดนีเซีย สามารถใช้ CIMB THAI Digital Banking แอปพลิเคชันหลักของธนาคารบนมือถือ จ่ายเงินผ่าน QR Code ที่อินโดนีเซีย โดยสแกน QRIS (Quick Response Code Indonesian Standard) ซึ่งเป็น QR มาตรฐานของประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่คนอินโดนีเซียที่เดินทางมาไทยสามารถใช้ OCTO Mobile แอปของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า ชำระสินค้าที่ไทย โดยสแกน Thai QR Code  เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งนักท่องเที่ยวและร้านค้า เพราะปัจจุบัน การชำระเงินผ่าน QR Code เป็นวิธีการชำระและรับเงินได้ทันที มีประสิทธิภาพ ช่วยลูกค้าปลอดภัยเพราะไม่ต้องพกเงินสด และประหยัดค่าธรรมเนียมต่างๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ  

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า “การชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR Code ระหว่างไทย-อินโดนีเซีย เป็นการเปิดช่องทางใหม่ในอาเซียน ประเทศที่ 2 แล้วของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่เข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นอีกก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียนให้กว้างยิ่งขึ้น เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นคนอาเซียนเชื่อมโยงกันใกล้ชิด ผ่านการชำระเงินของผู้บริโภครายย่อยและร้านค้าแบบเรียลไทม์ เราหวังให้ภูมิภาคของเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้โดยเร็ว และอาเซียนกลับมาเปิดประเทศกันได้อีกครั้ง” นายพอล วอง กล่าว 

Mr. Tigor M. Siahaan, President Director & Chief Executive Officer, PT Bank CIMB Niaga Tbk เปิดเผยว่า “การขยายตัวของการชำระเงินด้วย QR Code ในอาเซียนสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการบูรณาการทางการเงินระดับภูมิภาคผ่านนวัตกรรมดิจิทัลที่มองไปข้างหน้า และเป็นความภาคภูมิใจที่ ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า ซีไอเอ็มบี ไทย และสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่มซีไอเอ็มบีได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้บริการลูกค้าของเราได้ดียิ่งขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน”

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับเลือกให้เป็นผู้ให้บริการ QR payment ระหว่างประเทศไทย และมาเลเซีย จากความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารแห่งประเทศไทย  

อนึ่ง กลุ่มซีไอเอ็มบี มีเครือข่ายครบทั้ง 10 ประเทศอาเซียน ทั้งการเป็นสาขาเต็มรูปแบบ สำนักงานตัวแทน และเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงความเป็นอาเซียน อาทิ BizChannel@CIMB Mobile app ที่ให้ลูกค้าธุรกิจสามารถบริหารจัดการทุกบัญชี CIMB ทั่วอาเซียนได้ในแอปเดียว สำหรับลูกค้ารายย่อยผู้ถือบัตรเดบิต ของกลุ่มซีไอเอ็มบี สามารถกดเงินข้ามประเทศผ่านตู้ ATM ของกลุ่มซีไอเอ็มบีโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม