ศุลกากรเพิ่มความสะดวกผู้นำเข้า-ส่งออก ชำระภาษีด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ 21 ก.ย.นี้

การส่งออก
FILE PHOTO: REUTERS/Athit Perawongmetha/

กรมศุลกากรพัฒนาระบบชำระภาษีอากรด้วยบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ก้าวสู่สังคมไร้เงิน 100% เริ่ม 21 ก.ย.นี้ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ไม่ต้องเดินทางมากรม ชำระภาษีออนไลน์ได้ 24 ชม.

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมได้เปิด “โครงการพัฒนาระบบชำระค่าภาษีอากรด้วยบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Tax Compensation : DTC)” โดยกรมศุลกากรได้ร่วมมือกับกรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต พัฒนาระบบชำระค่าภาษีอากรด้วยบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ประกอบการสามารนำบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาจ่ายเงินค่าภาษีอากรได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้นำเข้าและส่งออก ได้สิทธิประโยชน์คืนเป็นบัตรภาษีแทนรูปแบบเงินสด ที่จะเป็นวงเงินสามารถนำมาจ่ายชำระค่าภาษีในครั้งถัดไปได้ โดยจะมีผลบังคับใช้ 21 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป

“เดิมบัตรภาษีดังกล่าวเป็นเพียงกระดาษเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้พัฒนาไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นการชำระค่าภาษีอากรด้วยวงเงินชดเชยอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออก โดยสามารถชำระเงินค่าภาษีอากรด้วยบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ต้องเดินทางมายังกรมศุลกากร ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนโครงการ National e-Payment ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังด้วย”

ทั้งนี้ แต่ละปีผู้ประกอบการได้รับวงเงินสำหรับมูลค่าบัตรภาษี เฉลี่ยปีละ 8,000 ล้านบาท โดยหากบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์มีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกมากขึ้น พร้อมกันนี้ บัตรภาษีดังกล่าว สามารถต่ออายุการใช้งานได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 ปีนับจากวันที่ออกบัตรภาษี โดยมีกรอบระยะเวลาประมาณ 9 ปี

ซึ่งจากการพัฒนาระบบภาษีดังกล่าว ทำให้การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้านการชำระเงินของกรมดำเนินการได้อย่างครอบคลุม 100% เนื่องจากที่ผ่านมา กรมมีช่องทางการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ แล้ว 2 ช่องทาง ได้แก่ การชำระเงินโดยวิธีตัดบัญชีธนาคาร e-Payment และการชำระเงินโดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคาร/ตัวแทนรับชำระเงิน Bill Payment ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกมาชำระภาษีผ่านอิเล็กทรอนิดส์เกือบทั้งหมด มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ที่ชำระภาษีด้วยเงินสด

ส่วนที่จะต้องพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกรมจะต้องพัฒนาต่อไปนั้น จะเป็นของการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยจะต้องช่วยสนับสนุนระบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนาระบบเอ็กสเรย์ต่าง ๆ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ