แบงก์ชาติเคาะเกณฑ์ค้ำประกัน 100% ธุรกิจเสี่ยง “โรงเรียน-โรงแรม”ลุ้นกู้ใหม่แสนล้าน

พักหนี้-กู้เงิน

ธปท.-บสย.-แบงก์ เคาะเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูเฟส 2 วงเงิน 1 แสนล้าน ลดค่าธรรมเนียม 2 ปีแรกเหลือ 1% พร้อมคืนค่าธรรมเนียมลูกค้าเฟสแรก 0.75% ขยับวงเงินลูกค้าใหม่-เก่าให้เข้าถึงสินเชื่อสูงขึ้นเป็น 50 ล้าน ที่พักแรม ร้านอาหาร กิจการนำเที่ยว ขนส่ง บันเทิง ก่อสร้าง สถานศึกษา ร้านนวดสปา รัฐค้ำประกัน 100% ร้อนเงินยื่นขอกู้ได้ 6 ก.ย.นี้

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการประชุมระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงิน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อปรับหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันระยะที่ 2 วงเงิน 1 แสนล้านบาท มีข้อสรุปสำคัญที่มีการปรับเปลี่ยนมีอยู่ 4 เรื่อง

ได้แก่ 1.การขยายวงเงินสินเชื่อแก่ลูกหนี้ใหม่และลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินเดิมต่ำ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับสินเชื่อที่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อยิ่งขึ้น โดยลูกหนี้ใหม่ จากเดิมวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท

ขณะที่ลูกหนี้เดิม จาก 30% ของวงเงินสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62 หรือ 28 ก.พ. 64 ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 ล้านบาท ปรับเป็นให้วงเงิน 30% ของวงเงินแต่ละสถาบันไม่เกิน 150 ล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่ 30% ของวงเงินเดิมไม่ถึง 50 ล้านบาท

“คุณสมบัติยังเหมือนเดิม คือเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย ไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจการเงิน มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 28 ก.พ. 64 ไม่เกิน 500 ล้านบาท หรือไม่มีวงเงินสินเชื่อก็ได้ โดยจะต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62”

ธุรกิจเสี่ยงรายเล็กค้ำฯ 100%

2.เพิ่มอัตราชดเชยความเสียหายลูกหนี้รายตัวสำหรับกลุ่มลูกหนี้ Micro หรือ SME Sector ที่ยังได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งจะลดโอกาสการเรียกหลักประกันเพิ่มเติม โดยกลุ่มลูกหนี้ Micro จากเดิมอัตราการค้ำประกันจะอยู่ที่ 90% ปรับเป็น 100% ส่วนกลุ่ม SME กรณีกลุ่มทั่วไปคงอัตราการค้ำประกันอยู่ที่ 80%

และกลุ่มเสี่ยง ขนาดเล็ก เช่น เซ็กเตอร์กลุ่มเสี่ยง อาทิ ที่พักแรม ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ขนส่งผู้โดยสาร ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ ก่อสร้าง สถานศึกษา และธุรกิจบริการอื่น เช่น ธุรกิจนวดสปา จะค้ำประกัน เพิ่มเป็น 100% ส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วไปอยู่ที่ 60% และกลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 70%

โดยแนวทางการพิจารณาในกลุ่มเซ็กเตอร์เสี่ยงโดยคำนึงถึงการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูยังจำกัด และมีนัยต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เช่น มีการจ้างงานในระดับสูงและมีความจำเป็นในการรักษาศักยภาพและโอกาสในการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี พอร์ตการค้ำประกันรวมยังอยู่ที่ 40%

ลดค่าฟีลูกค้ารายใหม่

ข้อสรุปข้อที่ 3 ลดค่าธรรมเนียมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น โดยมีภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันลดลง โดยในช่วงปีที่ 1-2 ในช่วงที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวปรับอัตราค่าธรรมเนียมเหลือ 1% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 1.75% ต่อปี

ซึ่งทำให้ภาระค่าธรรมเนียมรวมของลูกหนี้ปรับลดลงจาก 14% เหลือ 13% ทั้งนี้ ให้ภาครัฐชดเชยค่าธรรมเนียม บสย.ให้เร็วขึ้นเป็นปีที่ 1-6 ซึ่งจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ได้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

ประเด็นที่ 4 การคืนค่าธรรมเนียมให้ลูกหนี้หากไม่ต้องการต่ออายุการค้ำประกันโดยจะคืนให้ภายใน 150-210 วันนับตั้งแต่หนังสือค้ำประกัน (L/G) ครบกำหนดการ ต่ออายุค้ำประกันปีที่ 1

“โดยกำหนดระยะเวลายื่นรับคำขอตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564 สิ้นสุดรับคำขอวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เป็นระยะเวลา 2 ปี 1 เดือน โดยระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี” แหล่งข่าวกล่าว

คลังเตรียมชดเชยผู้ประกอบการ

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูนั้น จะมีการปรับปรุงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันต่าง ๆ ด้วย แต่กระทรวงการคลังรวมทั้ง ธปท.คำนึงถึงผู้ประกอบการเฟสแรกที่เคยได้รับสินเชื่อไปแล้ว จึงอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางช่วยเหลือลูกค้าเฟสแรกที่ได้รับสินเชื่อด้วย ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการที่รับสินเชื่อไปแล้วได้รับประโยชน์เท่ากับเฟส 2

ทั้งนี้ สินเชื่อฟื้นฟูอีก 1 แสนล้านบาท ในเฟส 2 จะมีการปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เนื่องจากต้องการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น

โดยช่วงปีที่ 1-2 จะปรับอัตราค่าธรรมเนียมเหลือ 1% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่1.75% ต่อปี โดยผู้ประกอบการที่เคยได้รับสินเชื่อเฟสแรกแล้วก็จะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากผู้ประกอบการทำประกันกับ บสย.เป็นปีที่ 2 ก็จะนำเงินส่วนเกินที่ได้จากการลดในปีแรกไปเฉลี่ยเป็นส่วนลดในปีที่ 2

ขณะที่กรณีผู้ประกอบการไม่ต้องการค้ำประกันต่อในปีที่ 2 เนื่องจากต้องการปิดเงินกู้ หรือมีหลักประกันให้กับสถาบันการเงินแทนการค้ำประกันของ บสย.แล้ว

ในส่วนนี้ บสย.จะดำเนินการคืนเงินส่วนเกินจากการลดอัตราค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการ จำนวน 0.75% โดยใช้งบประมาณชดเชยจากกระทรวงการคลังในการคืนเงิน ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาในเรื่องงบประมาณดังกล่าว

“คาดว่ากลุ่มนี้จะมีน้อย เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังต้องการเงินทุนอยู่ ซึ่งสินเชื่อฟื้นฟูก็ให้อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกต่ำมาก ผู้ประกอบการจะต้องคว้าโอกาสส่วนนี้ไว้ก่อน ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะต้องคืนเงินส่วนเกิน 0.75% หลังจากลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันเหลือ 1% ให้ผู้ประกอบการเฟสแรกจำนวนเท่าไหร่ ต้องรอสินเชื่อฟื้นฟูเฟสแรกอนุมัติเต็มวงเงินก่อน และจะต้องรอดูข้อมูลจาก บสย.ด้วยว่าลูกค้าเฟสแรกจะมีการต่อประกันในปีที่ 2 ด้วยหรือไม่ เพราะถ้าลูกค้าไม่ต่อประกันปีที่ 2 ก็จะไปเฉลี่ยวงเงินส่วนเกินแล้วลดการค้ำประกันที่ปี 2 ให้” แหล่งข่าวกล่าว

เฟสแรกค้ำทะลุ 8.7 หมื่นล้าน

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ขณะนี้ บสย. กระทรวงการคลัง และ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเตรียมรองรับวงเงินเฟสแรก 1 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเต็มวงเงินในช่วง ก.ย.-ต.ค.นี้

ปัจจุบัน บสย.ค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วกว่า 8.7 หมื่นล้านบาทช่วยผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 28,500 ราย

โดยหากเต็มวงเงินแล้วจะมีการดำเนินการสินเชื่อฟื้นฟูเฟส 2 อีกจำนวน 1 แสนล้านบาททันที ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อดังกล่าวจะได้ข้อสรุปและเร่งออกมาในช่วงต้นเดือน ก.ย. 64

“การพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู เราคำนึงถึงลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากผลของการแพร่ระบาดโควิดมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาวให้เข้ามาใช้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูตัวนี้ได้มากขึ้น โดยส่วนของ max claim ยังจำนวนเท่าเดิม แต่รายละเอียดของแต่ละธุรกิจจะมีการปรับปรุงเกณฑ์” นางวสุกานต์กล่าว