ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงขึ้นเมื่อคืนนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทถูกกดดันจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.76/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 8 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/9) ที่ระดับ 32.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.373% เมื่อคืนนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 30 ปีปรับตัวขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจับตาธนาคารกลางสหรัฐเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขตของสหรัฐ หรือ Beige Book ในคืนวันนี้ พร้อมกับจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 กันยายนนี้ด้วย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศปรับตัวลดลงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทถูกกดดันจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก โดยมีการเปิดเผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ออกมาอยู่ที่ระดับ 76.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฏาคม โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.69-32.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.76/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (8/9) ที่ระดับ 1.1843/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/9) ที่ระดับ 1.1877/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้มีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 26.5 ในเดือนกันยายน จากระดับ 40.4 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวลงแตะที่ 30.0

โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจาก ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและการขาดแคลนชิปจะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งคาดว่า ECB จะยังไม่ประกาศการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมวันดังกล่าว แต่มีแนวโน้มที่จะประกาศการลดวงเงิน QE ในการประชุมเดือนธันวาคม

ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1812-1.1852 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1813/16 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 110.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/9) ที่ระดับ 109.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ มีการเปิดเผยว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัว 1.3% ในการรายงานครั้งแรก เนื่องจากการใช้จ่ายทุนที่แข็งแกร่งช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้น ยังคงกดดันการใช้จ่ายในภาคบริการ และบดบังแนวโน้มเศรษฐกิจก็ตาม โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.14-110.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.22/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTs เดือนกรกฎาคม (8/9), การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของ ECB (9/9), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (9/9), ดัชนีจีดีพีไตรมาส 2 ของสหราชอาณาจักร (10/9), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ เดือนสิงหาคม (10/9)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.20/+0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.00/+1.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ