ธุรกิจประกันอ่วมโควิด “รายได้ลงทุน-กำไรเบี้ย” ชะลอ

ธุรกิจประกันชีวิต-วินาศภัยครึ่งปีแรกอ่วม “รายได้ลงทุน-กำไรจากการรับประกันภัย” ฮวบยกแผง “โตเกียวมารีนประกันชีวิต” ประเมินครึ่งปีหลังอาการยังหนักไม่ต่างจากครึ่งปีแรก เหตุโควิดยังกระทบ คนระวังการใช้จ่าย กดกำลังซื้อ จ่อทบทวนลดพอร์ตลงทุน ลดสัดส่วนลงทุนกองรีทออฟฟิศ-โยกเงินลงทุนหุ้นกู้เรตติ้ง A+ เพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) อัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันภัยไทยมีมูลค่ารวมเกือบ 4 ล้านล้านบาท โดยมาจากธุรกิจประกันชีวิต 3.87 ล้านล้านบาท และธุรกิจประกันวินาศภัย 3.44 แสนล้านบาท (ดูตาราง)

ตารางสินทรัพย์ลงทุนประกันภัย

โดยธุรกิจประกันชีวิตมีรายได้จากการลงทุนสุทธิรวม 60,970 ล้านบาท ลดลง 3.35% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรจากการรับประกัน 26,607 ล้านบาท ลดลง 9.26% ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยมีรายได้จากการลงทุนสุทธิรวม 3,736 ล้านบาท ลดลง 6.27% และมีกำไรจากการรับประกัน 8,062 ล้านบาท ลดลง 13.03%

นางสาวยุวดี เฉลิมศรีภิญโญรัช รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการเงิน บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 เทียบกับช่วงครึ่งปีแรกคงไม่แตกต่างกันมาก เพราะยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คล้ายกัน โดยครึ่งปีแรกถูกกระทบช่วงปลายไตรมาส 2 ส่วนครึ่งปีหลังเจอผลกระทบเต็ม ๆ ในไตรมาส 3 แต่ไตรมาส 4 น่าจะผ่อนคลายมากขึ้น

“แต่ช่วงปลายปีกำลังซื้ออาจจะไม่ดีเพราะประชาชนอยู่ในสภาวะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะรายได้ถูกกระทบค่อนข้างนาน” นางสาวยุวดีกล่าว

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาภาพรวมพอร์ตลงทุนของอุตสาหกรรมประกันชีวิต จะเห็นการปรับพอร์ตเงินฝากลดลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากมานาน หลายบริษัทพยายามโยกเงินเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีขึ้น ขณะที่การปรับพอร์ตหุ้นก็เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวน

นางสาวยุวดีกล่าวว่า ปัจจุบันโตเกียวมารีนฯมีสินทรัพย์ลงทุนรวมอยู่ประมาณ 32,000 ล้านบาท (ณ สิ้นไตรมาส 2) แยกเป็นพันธบัตรรัฐบาล 80%, หุ้นกู้ 6-7%, หุ้นและกองรีท 3% เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 3% ส่วนที่เหลือเป็นสินทรัพย์อื่น ๆ ทั้งนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างทบทวนปรับพอร์ตกองรีทโดยเฉพาะรีทออฟฟิศ เนื่องจากประเมินแล้วว่าแม้สถานการณ์โควิดจะหายไปแต่การกลับมาดำเนินกิจการคงไม่เหมือนเดิม เพราะบริษัทต่าง ๆ คงพิจารณาให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) ต่อกันพอสมควร ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการเช่าออฟฟิศไม่ได้สวยงามเหมือนก่อนเกิดโควิด

นอกจากนี้ พยายามขยายพอร์ตหุ้นกู้เพิ่มขึ้น แต่เน้นคุณภาพตามนโยบายการลงทุนที่เข้มงวด ซึ่งปัจจุบันโฟกัสลงทุนหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งระดับ A+ ขึ้นไปเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบพอร์ตลงทุนของบริษัทหากหุ้นกู้ถูกดาวน์เกรด เพราะบางธุรกิจที่ออกหุ้นกู้ถ้าไม่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งจะสู้ไม่ไหว ขณะที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยคงใช้เวลาเกิน 2 ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ปกติ อย่างไรก็ดี บริษัทคาดหวังอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ในระดับ 3-4% ต่อปี

“พอร์ตลงทุนของโตเกียวมารีนฯส่วนหนึ่งจะให้ผู้จัดการกองทุนดูแล ซึ่งค่อนข้างแอ็กทีฟมีการปรับพอร์ตทุกไตรมาส ส่วนพอร์ตที่บริษัทดูแลเองจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (ALM) เพื่อแมตชิ่งระหว่างหนี้สินจากการขายประกันใหม่ ซึ่งจะมีการปรับทุกเดือนโดยประเมินจากค่าเฉลี่ยของหนี้สินว่ายาวแค่ไหน เพื่อจับคู่กระแสเงินสดรับ (cash flow matching)” นางสาวยุวดีกล่าว