อดีตผู้ว่า ธปท. เปิด 7 จุดอันตราย เร่งแก้ก่อนกระทบเศรษฐกิจไทยยาว

วิรไท สันติประภพ

วิรไท อดีตผู้ว่าธปท. เปิด 7 เรื่องกำลังเข้าสู่จุดอันตราย ต้องเร่งแก้ก่อนเกิดผลกระทบเศรษฐกิจวงกว้าง แนะลดขนาดข้าราชการไทย ลดข้อจำกัดการคลัง พร้อมลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

วันที่ 22 กันยายน 2564 นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง ” 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย” ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นั้น ก่อนที่จะพูดถึงโครงสร้างหรือปัญหา จะต้องมองบริบทในการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย ซึ่งหากมองเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคนอาจมองว่าไม่เป็นปัญหา ซึ่งหากมองบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญจะทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น โดยระยะเวลาในแผนฉบับที่ 13 จะเห็นบริบทการเปลี่ยนของโลกที่สำคัญ ที่เรียกว่า “VUCA” ทั้งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือสูง 

“เศรษฐกิจภาคสังคมที่เคยทำย้ายไปทำอุตสาหกรรมแบบใหม่ เช่น เรื่องคนที่เคยทำอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เคยรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน อนาคตก็จะยากหากจะกลับไปจำนวนเท่าเดิม ซึ่งมีโอกาสยากมากขึ้น เพราะต้นทุนในการเดินทางจะสูงขึ้นเยอะ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก และรูปแบบการท่องเที่ยวแบบเดิมก็สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ กำลังการผลิตในส่วนของท่องเที่ยวก็จะมีเหลือเยอะ เช่น โรงแรม ฉะนั้น ต้องคิดในเรื่องการปรับเปลี่ยน ให้ทรัพยากรไปใช้ในเรื่องใหม่ๆ ด้วย”

ทั้งนี้ เรื่องการเปลี่ยนแปลงในช่วงแผน 13 เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องกลับมาดูเรื่องที่เร่งด่วน และสำคัญ หรือเรียกว่า “Tipping Point” ซึ่งเป็นจุดอันตราย หากปล่อยให้สถานการณ์ไหลลงไปในจุดหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าเดิมมาก อาจจะไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นโดมิโนไปสู่หลายภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเรื่องในเชิงโครงสร้างที่เข้าสู่ Tipping Point ไปแล้วจะต้องหาทางควบคุมปัจจัย ส่วนเรื่องที่กำลังจะเผชิญ ต้องมีการตั้งรับว่าจะปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ผลกระทบไม่รุนแรงมาก 

นายวิรไท กล่าวว่า เรื่องที่กำลังจะเข้าสู่ Tipping Point มีอยู่ 7 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพยายามรีบแก้ หากเข้าสู่ภาวะดังกล่าวแล้วจะแก้ยากมาก และจะเกิดผลกระทบที่กว้างไกล ได้แก่ 1. ขนาดของภาครัฐไทยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกลไกลของการใช้อำนาจรัฐทั้งหมด ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ส่งผลให้งบรายจ่ายประจำในงบประมาณของภาครัฐอยู่ในระบบดับสูง งานปล่อยให้เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ จะไปเบียดบังงบลงทุน และข้อจำกัดทางด้านการคลัง โดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากโควิด ทำให้มีข้อจำกัดทางด้านการคลังเพิ่มสูงขึ้น 

2.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีการพูดถึงเรื่องการฟื้นตัวแบบ K-shape โดยคนที่มีฐานะจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าคนที่อยู่ระดับล่าง ซึ่งอนาคตจะเห็นเส้นแบ่งมากขึ้น รวมถึงเส้นแบ่งทางด้านการศึกษา เส้นแบ่งความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ และเส้นแบ่งการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นต้น จะต้องหาแนวทางดูแลให้เส้นแบ่งเหล่านี้บางลง ซึ่งหากในอนาคตเกิดขึ้นแล้ว จะยากต่อการดึงกลับมา 

3.ความสามารถในการแข่งขันของไทยในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังมีบริษัทหลายแห่งที่ดำเนินการในรูปแบบเก่า ยังมีหลายบริษัทที่ยังไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลก อุตสาหกรรมใหม่ โดยการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยก็ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้โอกาสหลุดจากห่วงโซ่อุปทานของโลกก็มีมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ไทยยังไม่ได้อยู่ในกรอบการค้าที่สำคัญของโลก เช่น FTA และ CPTPP เป็นต้น 

4.ความเห็นต่างของคนระหว่างรุ่น ถือเป็นโจทย์ใหญ่มาก ซึ่งขณะนี้จะเห็นความขัดแย้งกันทางความคิด จะต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ความเห็นต่างของคนระหว่างรุ่นมีทางที่จะเบาบางลง เพื่อให้มองอนาคตของประเทศร่วมกัน ให้มีจุดร่วมที่จะพัฒนาต่อยอดไปด้วยกัน 

5.คุณภาพของระบบการศึกษาไทย โดยคุณภาพของการศึกษาไทยอาจจะยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่นัก ขณะที่คนเราจะต้องเก่งขึ้นมาก และการแข่งขันจะสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 

6.ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโลโนยีสมัยใหม่ ซึ่งระบบนิเวศยังไม่เอื้อให้ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ หากตกขบวนเทคโนโลยีจะมีผลระยะยาว ทั้งต้นทุนการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ เป็นต้น

และ 7. ปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันอย่างมาก แต่สถานการณ์คอร์รัปชั่นยังเป็นเรื่องที่มองว่ารุนแรงมากในประเทศไทย และมีหลายระดับมาก จะต้องไม่ทำให้คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติในสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อคนเก่งไม่มีที่ยืน แข่งขันไม่ได้อย่างเป็นธรรม 

พร้อมกันนี้ การที่จะพลิกโฉมประเทศไทย จะต้องทำให้สังคมไทยเป็นเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในภาพใหญ่ ซึ่งจะต้องทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัลใช้ประโยชน์ได้กับคนทั่วไป ยกระดับแรงงาน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.8 ล้านคน ที่ต้องการอัพสกิล โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร แรงงานที่ต้องออกจากเมืองใหญ่ไปสู่ชนบท แรงงานที่ต้องออกจากภาคบริการ ซึ่งจะไม่มีโอกาสกลับมาทำงานเหมือนเดิม จะต้องมีกระบวนการพัฒนาทักษะคนเหล่านี้ และการปฏิรูปกฎหมายและระเบียบของข้าราชการขนานใหญ่ คือการยกเลิกกฎระเบียบกฎหมายที่ล้าสมัย และทำการปฏิรูปกฎระเบียบทางราชการ