หุ้นไทยลุ้นฟื้นตัวตามหุ้นโลก คืบหน้ายารักษาโควิด “โมลนูพิราเวียร์”

ตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ลุ้นฟื้นตัวตามตลาดต่างประเทศ แกว่งตัวในกรอบ 1,595-1,615 จุด แรงหนุน “คืบหน้าการผลิตยารักษาไวรัส COVID-19 “โมลนูพิราเวียร์”-การลงนามของ โจ ไบเดนในกฎหมายงบประมาณชั่วคราวไม่เกิดภาวะ Government Shutdown จับตาสถานการณ์น้ำท่วม-วิกฤตพลังงาน-สภาพคล่องอสังหาฯในจีน

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า คาดดัชนี SET Index เช้านี้ลุ้นฟื้นตัวตาม Sentiment ของตลาดต่างประเทศ โดยจะแกว่งตัวอิงทางขึ้นในกรอบระหว่าง 1,595-1,615 จุด ลุ้นไม่ให้ปิดต่ำกว่า 1,600 จุด ยังมีโอกาสกลับตัวขึ้นได้เมื่อปัจจัยลบต่าง ๆ คลี่คลาย สำหรับประเด็นบวกหลักในวันนี้ ได้แก่ ความคืบหน้าการผลิตยารักษาไวรัส COVID-19 และการลงนามของโจ ไบเดน ในกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณใช้จ่ายจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 64 ไม่เกิดภาวะ Government Shutdown

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามประเด็นอื่นที่มีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลกดดันตลาดได้เป็นระยะ ได้แก่ 1.น้ำท่วมภายในประเทศ ที่ขณะนี้หลายพื้นที่ยังคงวิกฤต แม้ในเบื้องต้นทางฝ่ายวิจัยมองว่าไม่ยืดเยื้อ และน่าจะคลี่คลายได้ภายในช่วงกลางเดือน ต.ค. 64

และ 2.ประเด็นวิกฤตพลังงานและสภาพคล่องอสังหาฯ ในจีนที่เพิ่มความเสี่ยงด้าน Downside ของภูมิภาคอาจกดดันเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)

กลยุทธ์การลงทุนเลือกหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อาทิ รับเงินบาทอ่อนค่า, รับประโยชน์การซ่อมสร้างหลังน้ำท่วม และกลุ่มเปิดเมืองที่คาดว่าทยอยฟื้นในไตรมาส 4

ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ภาพรวมมีพัฒนาการเชิงบวก โดยในหลายประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัวจากการกระจายวัคซีนที่มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประชากรกว่า 52% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,600 ราย

ส่วนความคืบหน้าที่อาจเป็นจุดพลิกสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกคือผลการทดลองยาเม็ดต้าน COVID-19 “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัท Merck&Co ที่ล่าสุดพบว่าลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตลงได้ถึง 50% รับประทานวันละ 2 มื้อ เพียง 5 วัน โดยจากความคืบหน้านี้ทำให้หุ้นของบริษัทที่ผลิตวัคซีนทั้ง Pfizer, Moderna และ Novavax ปรับตัวลง ทางฝ่ายวิจัยมองว่าเป็นปัจจัยดีต่อสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากใช้เวลารักษาไม่นาน การกระจายยาเม็ดทำได้ง่ายกว่าวัคซีน และเบื้องต้นรับมือได้ทุกสายพันธุ์ อาจทำให้โลกควบคุม COVID-19 ได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี ต้องติดตาม Merck&Co ยื่นขอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ภายในเดือน พ.ย. 64 ถ้าหากอนุมัติใช้เป็นการฉุกเฉินจะช่วยหนุนความหวังเปิดเมือง เปิดประเทศทั่วโลกอีกครั้ง

สำหรับปัจจัยต้องติดตามสัปดาห์นี้คือ วันที่ 4 ต.ค. การประชุม OPEC+ ที่อาจปรับเพิ่มกำลังการผลิตรองรับอุปสงค์ที่ขยายตัวรุนแรง 2.วันที่ 8 ต.ค. 64 ตัวเลขแรงงานสหรัฐเดือน ก.ย. 64 ที่คาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงมาที่ 5.1% และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 4.6 แสนตำแหน่ง และ 3.วิกฤตพลังงานในหลายประเทศ อาทิ ยูโรโซน, จีน เบื้องต้นราคาพลังงานน่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และมาตรการคุมเข้มที่หากพลังงานขาดแคลนจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้