จับตาประมูลบอนด์ 3.85 หมื่นล้านดันเงินไหลเข้า กดบาทแข็ง 33 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติด “ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ผลการประชุมกนง.” คาดคงดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี ด้าน “กรุงไทย” มองโฟลว์ไหลเข้าตลาดบอนด์ หลังจะมีประมูลพันธบัตรอายุ 6 และ 30 ปี วงเงินรวม 3.85 หมื่นล้าน หนุนบาทแข็งค่าได้

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 8-12 พ.ย. 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.10-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ผ่านตัวเลข CPI เดือนตุลาคมที่ตลาดรอลุ้นอยู่ว่าจะเร่งตัวขึ้นมากน้อยแค่ไหน หากปรับขึ้นตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดติดตามตัวเลขยอดน้ำมันคงคลัง เนื่องจากราคาน้ำมันย่อตัวลงมาค่อนข้างเยอะ หากตัวเลขน้ำมันคงคลังลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการสูงราคาจะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงขึ้นได้อีก ขณะที่ในประเทศติดตามผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) อยู่ที่ระดับ 0.50% ต่อปี

“กรอบเงินบาทเรายังคงให้กรอบเดิม 33.10-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งตลาดยังไม่มีแฟคเตอร์ใหม่ๆ โดยโอกาสจะเห็นเงินบาทแข็งค่าได้บ้าง เพราะเงินดอลลาร์แข็งค่ามาพอสมควรและทำระดับสูงสุดมาหลายเดือนแล้ว และตลาดรับรู้เรื่องนโยบายการเงินพอควรแล้ว จึงช่วยบาทแข็งค่าได้ แต่คงไม่เห็นโอกาสที่จะหลุด 33.00 บาทต่อดอลลาร์”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสัญญาณไหลเข้ายังไม่ชัดเจน โดยตลาดหุ้นยังคงขายสุทธิอยู่ที่ 1,472 ล้านบาท ส่วนตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิอยู่ที่ 5,958 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับลดลง ทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อพันธบัตรตัวยาวของไทย

ขณะที่ฟันด์โฟลว์สัปดาห์หน้า (8-12 พ.ย.64) มองว่าจะเห็นโฟลว์เข้ามาบ้าง โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร เนื่องจากจะมีการประมูลบอนด์อายุ 6 และ 30 ปี โดยเฉพาะอายุ 6 ปี น่าจะเห็นนักลงทุนเข้ามาซื้อได้บ้าง โดยวงเงินประมูลอายุ 6 ปีอยู่ที่ 3.25 หมื่นล้านบาท และอายุ 30 ปี วงเงิน 6,000 ล้านบาท ส่วนตลาดหุ้นยังคงเห็นโฟลว์เข้ามาไม่เยอะ เนื่องจากนักลงทุนรอดูการเปิดประเทศ และคอมเมนต์จากธปท.ด้วย

“ฟันด์โฟลว์คงช่วยบาทแข็ง แต่คงไม่เยอะ เพราะ โฟลว์ไหลเข้าไม่เยอะมาก ส่วนหนึ่งทิศทางท่องเที่ยวก็ยังไม่ชัดเจน ดอลลาร์ยังไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ๆ อย่างไรก็ดี ต้องรอติดตามสถานการณ์ในบ้านเราด้วย เพราะที่อื่นก็เพิ่งเริ่มฟื้นตัว โดยเรามองว่าจะเห็นบาทกลับมาแข็งค่าน่าจะเป็นในช่วงไตรมาสที่ 2/65 ที่แข็งค่าชัดเจน”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนตุลาคมของสหรัฐฯ สูงกว่าคาด แต่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) กลับลดลง อาจจำกัดแรงหนุนสำหรับดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนเริ่มปรับมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยโลกหลัง ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) คงอัตราดอกเบี้ย สวนทางกับสัญญาณที่เคยให้ไว้ก่อนหน้าว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้

“ข้อมูลที่น่าสนใจสัปดาห์หน้า ได้แก่ เงินเฟ้อสหรัฐฯ และจีนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มขาดแรงหนุน ในประเทศ คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี ติดตามสถานการณ์โควิดและการตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังเปิดประเทศ”