คปภ. ยันห้ามเลิกเจอจ่ายจบ-ไทยประกันภัยเพิ่มทุน 6 พันล้าน

คปภ.ไม่ยกเลิกคำสั่งบอกเลิกเจอจ่ายจบ

สำนักงาน คปภ. ยันห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ กางข้อสรุปประชุมสมาคมประกันวินาศภัยไทย อนุญาตเสนอออปชั่นลูกค้าต้องสมัครใจ ผวายอดกรมธรรม์ ‘เจอจ่ายจบ’ เหลือความคุ้มครองอีกกว่า 7 ล้านกรมธรรม์ เลขาธิการ คปภ. ย้ำยังไม่พบความเสี่ยงเชิงระบบ ชี้แจงเดอะวันฯลูกค้ายังได้รับสิทธิเหมือนเดิม ฟาก “ไทยประกันภัย” ธุรกิจประกันเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ใส่เงินเพิ่มทุนแล้ว 5-6 พันล้านบาท

คปภ.ยันห้ามยกเลิกเจอจ่ายจบ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าว “กรณีปัญหาการประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ” ว่า วันนี้หลังจากได้มีการประชุมหารือเร่งด่วนร่วมกับ นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะกรรมการบริหารจำนวนประมาณ 11 ท่าน สำนักงาน คปภ.มีมติดังนี้

1.การดำเนินการแก้ไขปัญหา คปภ.จะยึดถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ

2.คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิดสำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ยังมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายอยู่ บริษัทจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ส่วนประเด็นที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกันนั้นต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อให้ได้มาตรการที่เหมาะสมต่อไป

3.การช่วยเหลือบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด จะขึ้นอยู่กับสถิติตัวเลข ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้องและแม่นยำ และผลกระทบต่าง ๆ ในทุกมิติ ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้ผู้เอาประกันภัยเดือนร้อน และไม่เป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนผู้เอาประกันภัย

4.เร่งเชิญบริษัทประกันวินาศภัยที่ขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบ มาสอบถามและขอข้อมูลประกอบการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress test) เพื่อประเมินความทนทานของรายบริษัท และระบบประกันภัยภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลองสำหรับการแพร่ระบาดโควิด-19

ไทยประกันภัย ใส่เงินเพิ่มทุน 6 พันล้าน

5.บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายเจอจ่ายจบ อาจพิจารณาเข้าร่วมโครงการผ่อนผันปัญหาด้านสภาพคล่องเพิ่มเติม เพื่อเสริมมาตรการให้บริษัทมีสภาพคล่องพร้อมที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดให้กับผู้เอาประกันภัยได้มากขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีเวลาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จากปัจจุบันอนุมัติไปแล้ว 3 ราย (สินมั่นคงประกันภัย, ไทยประกันภัย, เดอะวันประกันภัย) ซึ่งขณะนี้พบว่าทางไทยประกันภัย ยื่นเพิ่มทุนมาแล้วมูลค่า 5,000-6,000 ล้านบาท ส่วนอีก 2 รายที่เหลือกำลังยื่นเพิ่มทุน

6.หากสมาคมประกันวินาศภัยไทย ต้องการเสนอมาตรการผ่อนผันเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันภัยวินาศภัยที่ได้รับกระทบให้เร่งนำเสนอ เพื่อให้ คปภ.ได้กลั่นกรองและเร่งนำเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ.(บอร์ด) โดยเร็ว

อนุญาตเสนอ “ออปชั่น” ลูกค้าต้องสมัครใจ

7.หากบริษัทประกันวินาศภัยใดที่ประสบปัญหาต้องการดำเนินการเพื่อไม่ให้มีปัญหาการขาดสภาพคล่องลุกลามบานปลาย การเสนอแนวทางปรับปรุงเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันโควิด โดยเสนอทางเลือกที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์โควิดเดิม หรือตามกรมธรรม์ภัยอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัยมากขึ้น สามารถทำได้เลยหากลูกค้าสมัครใจ ทั้งนี้บริษัทไม่สามารถที่จะบังคับผู้เอาประกันภัยให้ยอมรับการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด หรือยอมรับเงื่อนไขความคุ้มครองใหม่ของบริษัทได้

“แต่ละบริษัทประกันวินาศภัยสามาถดำเนินการเสนอออปชั่นหรือทางเลือกให้ลูกค้าได้เลย แต่ต้องสมัครใจ โดยไม่ต้องเสนอ คปภ.ให้พิจารณา แต่อย่างไรก็ดี คปภ.จะคอยมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลาในแต่ละมาตรการ ” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

แจงลูกค้าเดอะวันฯ สิทธิคุ้มครองยังเหมือนเดิม

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเดอะวันประกันภัย คปภ.ได้ให้ผู้บริหารชี้แจงและได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ได้รับการยืนยันว่าการดำเนินการของบริษัทเป็นการเสนอทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัยโดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของลูกค้า ในเนื้อหาที่ระบุหากไม่ดำเนินการภายใน 7 วันจะถูกยกเลิกนั้น เบื้องต้นได้รับแจ้งแล้วว่าสิทธิลูกค้ายังเหมือนเดิม

ยังไม่พบความเสี่ยงเชิงระบบ

“ตอนนี้จากที่เราประเมินยังไม่พบปัญหาความเสี่ยงเชิงระบบ แต่วิธีต่อไปที่เราจะทำคือ การนำสถิติตัวเลขล่าสุดของแต่ละบริษัทมาวิเคราะห์ให้ชัดเจน และติดตามความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเกิดขึ้นไปแล้วว่าจะกระทบอุตสาหกรรมประกันภัยโดยรวม จนส่งผลไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy) อย่างไร ซึ่งเราได้ดูหลักเกณฑ์ของระบบสากลในการกำกับภาคการเงินทั้งหมดที่ใช้หลักการร่วมกัน

เบื้องต้นจากการประเมินความเสี่ยงจากการรับประกันภัยโควิด เรื่องความคุ้มครองจากการเจ็บป่วย หรือผลกระทบเจอจ่ายจบ จากการติดเชื้อโควิดระลอกที่ผ่านมา ซึ่งเราได้นำข้อมูลกรมควบคุมโรคที่มีการประเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเข้ามาประกอบการวิเคราะห์ว่าจะกระทบต่อฐานะความมั่นคงของบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งพบว่าจะมีบริษัทกลุ่มหนึ่งที่จะมีความเสี่ยง ถ้ามีการระบาดมากขึ้นไปอีกในอนาคต อาจจะมีฐานะการเงินต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้นเราจึงได้มีการออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อให้ธุรกิจประคับประคองตัวเองไปได้” นายสุทธิพล กล่าว

อย่างไรก็ดี คปภ.ได้มีการประเมินความเสี่ยงเชิงระบบหากเกิดโควิดระลอกใหม่ด้วยว่าจะทำให้เศรษฐกิจที่แท้จริงเกิดการหยุดชะงักหรือไม่ เพราะฉะนั้นตรงนี้อาจจะต้องประเมินสถานการณ์และอัพเดทเป็นระยะๆ ต่อไป จากทั้งอัตราผู้ติดเชื้อโควิดจะแรงขึ้นไปถึงจุดที่มีบริษัทกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดใหญ่พอ หรือมีความเชื่อมโยงบริษัทประกันภัยอื่น หรือระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจแท้จริงว่าจะมีผลมากน้อยที่จะทำให้ระบบหยุดชะงัก และผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีผู้บริหาร คปภ. และคณะกรรมการ คปภ.ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ พิจารณาร่วมกันต่อไป

ผวา ‘เจอจ่ายจบ’ ยังเหลือคุ้มครอง 7 ล้านกรมธรรม์

นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 พบว่า มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดรวมทั้งสิ้น 44 ล้านกรมธรรม์ (รวมปี 63-64) เบี้ยประกันภัยรวม 11,000 ล้านบาท โดยยอดเคลมทั้งระบบอยู่ประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยหากแยกเป็นกรมธรรม์ประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 10 ล้านกรมธรรม์ โดยยังเหลือประมาณ 7 ล้านกรมธรรม์ ที่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่ ทุนประกันภัยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 50,000-100,000 บาท

ทั้งนี้หากกรณียอดเคลมประกันโควิดทะลุ 40,000 ล้านบาท ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดการณ์ไว้เบื้องต้นนั้น สิ่งแรกที่ คปภ.ต้องมาพิจารณาคือ เบี้ยและสินทรัพย์ของรายบริษัทประกันวินาศภัยสอดคล้องกันอย่างไร แต่ละบริษัทมีการส่งประกันภัยต่อด้วยมากน้อยแค่ไหน

“ตอนนี้ตัวเลขเคลมที่ คปภ.เห็นคือยอดเคลมที่จ่ายออกไป จะไม่ใช่ยอดเคลมที่ยื่นเข้ามา ซึ่งยอดเคลมที่ยื่นมานั้น จริงๆ อาจจะไม่ใช่ยอดเคลมที่จ่ายออกไปก็ได้ ดังนั้น คปภ.จะพิจารณาจากยอดเคลมที่จ่าย ซึ่งต้องเอาตัวเลขที่ตรงกันมาดูอีกที แล้วดูแต่ละบริษัท ที่ขายเจอจ่ายจบ ซึ่งมีอยู่ 16 ราย ว่าเป็นอย่างไรมีส่งประกันภัยต่อกี่ราย มีการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างไร ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่า 16 บริษัทที่ขายเจอจ่ายจบ จะทำให้ธุรกิจประกันภัยเจ๊งแน่นอน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ต้องมีมาตรการแก้ไขในหลายวิธีออกมาช่วยเหลือต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าว