“ฟิทช์ฯ” วิเคราะห์ดีล DTAC-TRUE จำเป็นต้องใหญ่ ชิงธง 5G สู้ AIS

ทรู-ดีแทค

“ฟิทช์ เรทติ้งส์” วิเคราะห์ดีลควบรวมกิจการ “DTAC-TRUE” ชี้เพื่อปิดจุดอ่อนแต่ละบริษัท ระบุจำเป็น “ต้องใหญ่” เพื่อชิงธง 5G สู้กับ “AIS” เชื่อช่วยให้ค่าบริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีเสถียรภาพมากขึ้น คาดเห็นการแข่งขันด้านราคาในช่วงสั้น ๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยว่า การเจรจาระหว่างเทเลนอร์ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศนอร์เวย์ กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือ ซี.พี. ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ 2 บริษัท แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มขนาดธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำ และความต้องการในการลงทุนที่สูง

โดยเทเลนอร์ และเครือ ซี.พี. ได้ประกาศเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนว่ามีแผนในการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 ในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ)

โดยเทเลนอร์ และเครือ ซี.พี. คาดว่าจะถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ Merged Entity ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยหุ้นส่วนที่เหลือจะถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TRUE และ DTAC เทเลนอร์ และเครือ ซี.พี. คาดว่าจะได้ข้อสรุป และมีการลงนามในสัญญาที่เกี่ยวข้องภายในไตรมาสแรก ของปี 2565 โดยยังขึ้นอยู่กับการได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ผู้ถือหุ้นของบริษัท และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

ชี้จำเป็นต้องควบรวมเพื่อสู้ AIS

ทั้งนี้ ฟิทช์ฯ เชื่อว่าแผนการเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC เกิดจากความจำเป็นที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า ซึ่งรวมถึง DTAC และ TRUE จะต้องเผชิญความท้าทายจากการลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 5G ในขณะที่ยังมิได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าวในทันที

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่สุด ซึ่งได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งในการรองรับการลงทุน 5G และได้รับประโยชน์จากขนาดธุรกิจและฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่

“การควบรวมกิจการดังกล่าวน่าจะให้ประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวแก่ DTAC และ TRUE ในการแข่งขันด้านราคาในการให้บริการด้านข้อมูล และความสามารถในการรองรับการให้บริการของโครงข่าย การควบรวมกิจการจะทำให้สถานะทางการตลาดของ Merged Entity แข็งแกร่งขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าร้อยละ 50 จากส่วนแบ่งทางการตลาดของ TRUE ที่ร้อยละ 32 และ DTAC ที่ร้อยละ 22 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 นอกจากนี้ จำนวนคลื่นความถี่ที่มากขึ้นจะทำให้ Merged Entity แข่งขันกับ AIS ได้ดียิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ฟิทช์ฯเชื่อว่าการควบรวมกิจการจะช่วยให้ค่าบริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีเสถียรภาพมากขึ้น และสนับสนุนการทำกำไรในระยะยาว การแข่งขันด้านราคาสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2564 ยังคงไม่รุนแรงมากนัก

แม้ว่าสภาพการดำเนินธุรกิจที่ท้าทาย อาจทำให้มีการแข่งขันด้านราคาในช่วงสั้น ๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ ฟิทช์ฯคาดว่าการควบรวมกิจการน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานได้มากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพ และระยะเวลาของกระบวนการควบรวมการดำเนินงาน และโครงข่ายของทั้งสองบริษัท

เล็งทบทวนอันดับเครดิต DTAC

อย่างไรก็ตาม สถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นของ DTAC จะถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นของ Merged Entity ฟิทช์ฯประมาณการว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ของ Merged Entity จะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.2 เท่า หลังจากมีการควบรวมกิจการ

โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 DTAC มี EBITDA ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท และมี Net Debt/EBITDA ที่ 2.3 เท่า ในขณะที่ TRUE มี EBITDA ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท และมี Net Debt/EBITDA ที่ 7.4 เท่า

โดยฟิทช์ฯจะพิจารณาผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ DTAC จากการควบรวมกิจการ หากแผนการควบรวมมีความแน่นอนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์และการสนับสนุนระหว่าง Telenor และ DTAC จะทำให้ฟิทช์ฯพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง ฟิทช์ฯจัดอันดับเครดิตของ DTAC

โดยเริ่มจากการพิจารณาสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ DTAC แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องด้านกลยุทธ์ในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC

ปิดจุดอ่อน “DTAC-TRUE”

ทั้งนี้ DTAC เผชิญกับความยากลำบากในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับคืนมา ท่ามกลางการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง การถือครองคลื่นความถี่ที่ด้อยกว่า และความครอบคลุมของโครงข่ายที่น้อยกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ DTAC ยังจะต้องมีการจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม โดยเฉพาะคลื่น mid-band 3.5 GHz เพื่อรองรับการขยายเครือข่าย 5G ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ TRUE ได้รับแรงกดดันจากกระแสเงินสดที่อ่อนแอจากการลงทุนที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดมีการเพิ่มขึ้นช้าลง ฟิทช์ฯคาดว่ากระแสเงินสดสุทธิของ TRUE น่าจะยังคงเป็นลบในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะทางการเงินของบริษัทที่ตึงตัว