ธนชาตประกันภัย แย้มเงินทุนหนา จ้องดีลซื้อบริษัทประกันวินาศภัยขยายธุรกิจ ตั้งเป้าปีหน้าโกยเบี้ย 10,000 ล้านบาท เติบโต 22% จากสิ้นปีนี้คาดเข้าเป้าที่ 8,200 ล้านบาท ลุยปรับพอร์ตลงทุนปี’65 โยกเงินในบอนด์ลงทุน “หุ้น-หุ้นกู้-กองรีท-กองทุนรวม” หวังผลตอบแทน 3% ต่อปี
วันที่ 1 ธันวาคม 2564 นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยในสิ้นปี 2564 นี้ คาดว่าทั้งระบบจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท เติบโต 3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยมาจากยอดขายประกันสุขภาพ และยอดขายประกันภัยโควิด-19 ที่เข้ามาสูงมากในช่วงไตรมาส 2/64 ขณะที่ภาพรวมเบี้ยทั้งระบบในปี 2565 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับ 3% โดยภาคธุรกิจประกันวินาศภัยจำเป็นต้องสร้างเบี้ยประกันจากงานประเภทอื่นๆ เข้ามาชดเชยยอดขายประกันภัยโควิด ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ
ธุรกิจประกันปีหน้าโต 3% หางานใหม่ชดเชยโควิด
“ปีหน้ายังเป็นปีที่ท้าทาย เพราะทั่วโลกเผชิญการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นความเสี่ยงใหม่ที่เพิ่มเข้ามา หากเจอผู้ติดเชื้อและมีการปิดประเทศ ไม่มีการเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะกระทบต่อยอดขายประกันได้ แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าผลกระทบตรงนี้จะไม่หนักเหมือนรอบก่อนๆ และเราต้องอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้
ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าน่าจะฟื้นตัว แต่ฝั่งกำลังซื้อของประชาชนอาจชะลอตัว ทำให้บริษัทต้องปรับตัว เน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่คุ้มราคา ซื้อง่าย จ่ายเบี้ยน้อยๆ และมีการให้ผ่อนชำระได้ 0% นานกว่า 10 เดือน” นายพีระพัฒน์กล่าว
ช่วงปี 2563 กำไรจากการรับประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบสูงกว่า 12,000 ล้านบาท และช่วงครึ่งแรกของปี 2564 กำไรจากการรับประกันภัยสูงกว่า 7,000 ล้านบาท แต่จากช่วงไตรมาส 3/64 ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดโควิด ทำให้สิ้นไตรมาส 3/64 มีผลขาดทุนจากการรับประกันมากกว่า 10,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นในช่วงที่เหลือของปีหากเกิดการระบาดโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาอีกรอบจะน่าเป็นห่วงมาก
ธนชาต มั่นใจสิ้นปีเบี้ยแตะ 8.2 พันล้าน
นายพีระพัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับธนชาตประกันภัยสิ้นไตรมาส 3/64 มีเบี้ยรับรวมที่ 5,900 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 670 ล้านบาท เติบโต 3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน มีจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย จำนวนกรมธรรม์ 1.5 ล้านฉบับ หรือเฉลี่ยผู้ถือกรมธรรม์ 1.5 กรมธรรม์ต่อคน คาดปิดสิ้นปี 64 บริษัทจะเก็บเบี้ยรับรวมได้ตามเป้าที่ 8,100-8,200 ล้านบาท ยืนทรงตัวได้ในระดับใกล้เคียงปีก่อน แต่ถือว่ายังรักษาอัตราการทำกำไรเติบโตได้ต่อเนื่อง
โดยสัดส่วนพอร์ตงานรับประกันภัยกว่า 85% มาจากยอดขายประกันภัยรถยนต์ มีสัดส่วนการขายกว่า 42% ผ่านช่องทางธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานขายอยู่กว่า 3,000 ไลเซนส์ โดยบริษัทยังคงรักษาระดับอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ในระดับต่ำ หรืออยู่ราว 52%
สะท้อนจากสภาพคล่องของบริษัทที่สูงมากจากมูลค่าเงินทุนจดทะเบียนสูงกว่า 4,930 ล้านบาท มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) สูงกว่า 1,386% ในช่วงสิ้นเดือน พ.ย. 64 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คปภ.ไปมาก
ตั้งเป้าท้าทาย โกยเบี้ยปีหน้าหมื่นล้าน
นายพีระพัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายในปี 2565 บริษัทได้ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เติบโต 22% จากสิ้นปีนี้ ยอดขายหลักมาจากช่องทางแบงก์ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้กว่า 30% จากสิ้นปีนี้ และที่เหลือ 3,500 ล้านบาท มาจากช่องทางขายผ่านโบรกเกอร์ และอีก 300 ล้านบาท มาจากช่องทางเทเลเซลส์
เป้าเบี้ยรวมถือว่าเป็นเป้าที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก แต่บริษัทพร้อมบุกตลาด โดยมีแผนขยายพันธมิตรรายใหม่ และตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าใหม่อีก 300,000 ราย โดยโฟกัสกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง, มนุษย์เงินเดือน และกลุ่ม Young Old รวมไปถึงจะพัฒนาสินค้าใหม่ทั้งประกันรถยนต์ ประกันเดินทาง และประกันอุบัติเหตุ นอกจากนี้พัฒนาบริการร่วมมือพันธมิตรอู่รถยนต์ในเครืออีกด้วย
และวางแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ผ่านกลยุทธ์ Digital Customer Journey โดยตอนนี้เปลี่ยนระบบงานไปอยู่บนคลาวด์ทั้งหมดแล้ว เพื่อให้การทำงานได้ไม่จำกัด และช่วยให้มีระบบความปลอดภัยสูงเทียบเท่าสากล
ปรับพอร์ตลงทุน ลุยสินทรัพย์เสี่ยง
นายพีระพัฒน์กล่าวอีกว่า และอีกกลยุทธ์สำคัญคือ การปรับหน้าตาพอร์ตการลงทุนในปี 2565 มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยมีแผนจะลงทุน อาทิ หุ้นกู้, หุ้น, กองรีท, กองทุนรวมต่างประเทศ และกองทุนรวมส่วนบุคคล เน้นลงทุนไม่เกิน 3 ปี เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น
โดยปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ลงทุนที่ 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาลราว 80% ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบ 2% ต่อปี ทั้งนี้หากเปลี่ยนหน้าตาของพอร์ตลงทุนในปีหน้า คาดหวังผลตอบแทนที่ได้จะอยู่ในระดับ 3% ต่อปี
ทั้งนี้แต่ละปีบริษัทจะมีเงินส่วนเพิ่มจากกำไรปีละประมาณ 700 ล้านบาท เข้ามาในพอร์ตซึ่งจะทำให้สินทรัพย์รวมของบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปี
“เราปันผล 100% ของกำไรสุทธิ ปีละ 2 ครั้ง ปัจจุบันคิดเป็นผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ประมาณ 15% และมีเงินกองทุนสูงกว่า 5,000 ล้านบาท” นายพีระพัฒน์กล่าว
จับจังหวะ จ้องปิดดีลซื้อกิจการ
นายพีระพัฒน์กล่าวอีกว่า จากผลกระทบโควิด-19 จะเห็นสัญญาณการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันท็อป 20 ของบริษัทประกันวินาศภัยไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 80% ฉะนั้นผู้เล่นรายเล็กอีกกว่า 30 ราย หากจะเอาตัวรอดให้ได้อาจต้องมีการร่วมทุนหรือควบรวมกิจการ เพราะในอนาคตต้องเผชิญผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่
ซึ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีการทำพิสูจน์ตัวตน (KYC) ดังนั้นบริษัทเองก็ใช้จังหวะและกำลังมองหาพันธมิตรที่จะมาทำงานร่วมกันได้ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต โดยต้องมีลักษณะความเชี่ยวชาญที่เหมือนกัน และต้องไม่เป็นบริษัทที่ขาดทุน
“ตอนนี้เรามีเงินเพียงพอ และเรามีกำไรเติบโตขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้น เรามองหาโอกาสตรงนี้ตลอดเวลา โดยปัจจุบันผู้ถือหุ้นของเราสัดส่วน 51% คือ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และสัดส่วน 49% คือ สโกเทีย ซึ่งล่าสุดได้ขายหุ้นให้ทีทีบีสัดส่วน 10% ด้วยมูลค่า 1,102 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการทำธุรกรรมซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้” นายพีระพัฒน์กล่าว