ดอลลาร์แข็งหลังโอไมครอนป่วนตลาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 20-24 ธันวาคม 2564

ในวันจันทร์ (20/12) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ในตลาด โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐพุ่งแตะระดับ 96.6 จากการที่นักลงทุนได้พากันเข้าซื้อค่าเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน รวมทั้งได้แรงหนุนจากการที่ซิตี้กรุ๊ปออกรายงานซึ่งระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วที่สุดในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

โดยในรายงานยังเปิดเผยว่า สกุลเงินและตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่มักปรับตัวลงก่อนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางในเอเชียยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อไม่รุนแรงเหมือนชาติตะวันตก และเศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นการฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์เริ่มปรับตัวลงในช่วงกลางสัปดาห์โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการที่นายโจ แมนชิน วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต ประกาศไม่สนับสนุนกฎหมาย Build Back Better (การให้เงินช่วยเหลือในการดูแลเด็กอ่อน, การประกันสุขภาพและการลดภาษีแก่พลังงานสะอาดพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ) ทำให้ร่างกฎหมายฉบับที่เป็นแผนการใช้จ่ายมูลค่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์อาจไม่ผ่าน โดยเขาอ้างว่าจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับสหรัฐและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาก่อน และกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารของ IMF ได้ขยายเวลาการผ่อนปรนหนี้ให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำจำนวน 25 ประเทศออกไปอีก 3 เดือนจนถึงวันที่ 13 เมษายน 2565 แถลงการณ์ระบุว่าการอนุมัติการขยายเวลาผ่อนปรนหนี้ครั้งที่ 5 และจะเป็นรอบสุดท้ายนี้ คิดเป็นวงเงินรวม 115 ล้านดอลลาร์ หลังก่อนหน้านี้ได้ขยายเวลาผ่อนปรนหนี้ไปแล้ว 4 ครั้งในเดือนเมษายน และตุลาคม 2563 และ 2564

ทั้งนี้นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยระหว่างสัปดาห์ยังส่งผลต่อการขึ้นลงของค่าเงินดอลลาร์ในบางจังหวะ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) Q3/64 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.3% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่สองที่ระดับ 2.1%, สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวขึ้น 1.9% สู่ระดับ 6.46 ล้านยูนิตในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน แต่น้อยกว่าการคาดที่ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 6.52 ล้านยูนิต และกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสัปดาห์ที่แล้ว โดยอยู่ที่ระดับ 205,000 รายหลังมีกรปรับตัวเลข ซึ่งตรงกับการคาดการณ์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศไทยนั้น ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (20/12) ที่ระดับ 33.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/12) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและการซื้อขายที่เริ่มเบาบางลงก่อนที่ตลาดต่าง ๆ จะเริ่มปิดปลายสัปดาห์ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ทำให้เกิดการผันผวนของค่าเงินในบางจังหวะ โดยประเด็นสำคัญที่นักลงทุนจับตามองระหว่างสัปดาห์อยู่ที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธ (22/12) ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตรานโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี พร้อมประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน ทั้งนี้การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากนั้นทางคณะกรรมการคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.4 และ 4.7 ตามลำดับ ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 2565 และ 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 1.7 และ 1.4 ตามลำดับ

นอกจากนั้นแล้ว นักลงทุนยังให้ความสนใจกับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีผลประชุมออกมาว่ามาตรการต่าง ๆ นั้นจะเริ่มใช้ในปี 2565 ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้รับปัจจัยกดดันเล็กน้อยจากการยกเลิกมาตรการ Test & Go ชั่วคราวในช่วงวันที่ 21 ธ.ค. 64-4 ม.ค. 65 ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.38-33.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (24/12) ที่ระดับ 33.42/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรปิดตลาดในวันจันทร์ (20/12) ที่ระดับ 1.1240/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/12) ที่ระดับ 1.1250/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทางสำนักงานสถิติของเยอรมนี (Destatis) เผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนีปรับตัวขึ้น 19.2% ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบรายปีซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2494 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้น

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์จากการเทขายค่าเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากการที่กรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาเปิดเผยว่า ECB อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในช่วงสิ้นปีหน้า และการเรียกร้องให้ ECB ยุติการซื้อพันธบัตรนั้นนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่แข็งแกร่งว่า การซื้อพันธบัตรจะสิ้นสุดลงในช่วง 2 ไตรมาสหน้า ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1233-1.1342 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/12) ที่ระดับ 1.1337/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (20/12) ที่ระดับ 113.62/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/12) ที่ระดับ 113.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการที่นักลงทุนหันมาถือเงินเยนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยหลังพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันจันทร์ (20/12) ว่า ทรัพย์สินของครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่งทำสถิติสูงสุดเกือบ 2,000 ล้านล้านเยน (18 ล้านล้านดอลลาร์) ณ สิ้นเดือนกันยายน

เนื่องจากประชาชนยังคงงดการใช้จ่ายเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ค่าเงินเยนยังได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจภายในปะเทศในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนเมษายน โดยคาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลข GDP ที่แท้จริงในปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 3.2% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.2% จากการที่รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.31-114.51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/12) ที่ระดับ 114.39/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ