เทรดคริปโทฯ “ใน-ต่างประเทศ” สรรพากรชี้มีกำไรต้องเสียภาษี

ภาพ Pixabay

สรรพากรยันเทรดคริปโทฯ “ใน-ต่างประเทศ” หากมีกำไร ต้องเสียภาษี ย้ำกฎหมายกำหนดชัดผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย 15% ชี้เงินลงทุนอยู่ในวอลเล็ตนับเป็น “เงินได้” แม้ยังไม่ถอนออกมา

วันที่ 6 มกราคม 2565 นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรวางแนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ในส่วนของบุคคลธรรมดา โดยจะแบ่งเป็น 1.เก็บตามแหล่งเงินได้ในประเทศ การขายคริปโทเคอร์เรนซี ในประเทศทุกรายการ ถ้ามีกำไรจะต้องเสียภาษี ตามมาตรา 40 (4) (ฌ)

และ 2.เก็บตามแหล่งถิ่นที่อยู่อาศัย กรณีที่ขายคริปโทเคอร์เรนซีในต่างประเทศ และมีกำไร แล้วนำเงินกลับเข้ามาในประเทศ ในปีภาษีนั้น ๆ ก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน ถ้าอยู่เกิน 180 วัน

ขณะที่นิติบุคคลก็ต้องเสียภาษีจากกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซีด้วย โดยสามารถนำไปคำนวณเป็นรายได้ รวมกับรายได้อื่น ๆ ถ้าหากมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ในอัตราของนิติบุคคล

“การคำนวณภาษีเงินได้ต้องดำเนินตามที่กฎหมายระบุไว้ เช่น ดอกเบี้ย ถ้ามีเงินได้ก็คำนวณการยื่นแบบตามมาตรา 40 (4) (ก) ฉะนั้น เงินได้ที่กฎหมายระบุเอาไว้ แล้วไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร ก็ต้องนำมายื่นคำนวณรวม แต่ดอกเบี้ย กับเงินปันผล กฎหมายระบุไว้ว่า หากถูกหักไว้แล้วได้สิทธิไม่ต้องนำมายื่นรวม แต่กำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าให้เลือก ก็จะต้องมายื่นรวมกับรายได้อื่น” นางสมหมายกล่าว

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า ขณะที่การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นั้น ในปัจจุบันผู้ซื้อมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ส่วนจะเป็นภาระให้กับผู้ซื้อหรือไม่นั้น มองว่าเป็นหน้าที่มากกว่า เช่น เมื่อเราไปเช่าบ้าน ผู้ได้รับค่าเช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งอยู่แล้ว

“กฎหมายระบุไว้ว่า ผู้ซื้อมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ฉะนั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในอนาคตจะมีการใช้ศูนย์ซื้อขาย (Exchange) เป็นตัวกลางในการทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง” โฆษกกรมสรรพากรกล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเก็บภาษีขายคริปโทฯ ก็มีลักษณะเดียวกับการเก็บภาษีขายหุ้น ที่หากขายนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องเสียภาษีเป็นรายธุรกรรม แต่การขายในตลาดหุ้น มีกฎหมายยกเว้นให้ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องการส่งเสริมการซื้อขายผ่านตลาดหุ้น

ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยกันว่า การที่จะให้ Exchange เป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้วนำส่งกรมสรรพากรนั้น หากผู้ลงทุนยังไม่ได้ถอนเงินออกมาจากกระเป๋าเงิน (วอลเล็ต) จะถือว่ามีกำไรที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ แหล่งข่าว กล่าวว่า ตามกฎหมายก็ต้องถือว่า นักลงทุนรายนั้น มีเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต่างจากพอร์ตหุ้น ที่เงินในพอร์ตก็ถือว่าเป็นของนักลงทุนอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกรมสรรพากรระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2565 ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปีภาษี 2564 โดยกรณีผู้มีเงินได้ที่มีกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติปกติของกรมสรรพากรด้วย