โอมิครอนฉุดจีดีพีปี’65 ร่วงหนักสุด 3% วิจัยกรุงศรี เปิด 3 สมมติฐาน

เศรษฐกิจ
Mladen ANTONOV / AFP

วิจัยกรุงศรีประเมินการระบาดของโอมิครอนส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้าไปอีก 1 ไตรมาสไปอยู่ที่ Q1/66 จากประมาณการเดิม Q4/65 เผย 3 สมมติฐาน ระบุกรณีเลวร้ายสุด วัคซีนป้องกันไม่ได้ ดันยอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 3.2 หมื่นราย ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดควบคุมโรค กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว ทำจีดีพีปี 65 ลดลง 3%

วันที่ 6 มกราคม 2565 วิจัยกรุงศรี สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลับมาสร้างความกังวลต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากสายพันธุ์โอมิครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในหลายประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันพุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลยังไม่เพิ่มมากนัก ในการศึกษาเบื้องต้นพบว่า แม้โอมิครอนจะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในกลุ่มคนทั่วไป แต่ความสามารถในการระบาดที่เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 5 เท่า ยังมีแนวโน้มทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และเพิ่มความเสี่ยงต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ จากความไม่แน่นอน ทั้งความรุนแรงของอาการและประสิทธิภาพของวัคซีน วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาความเป็นไปได้ของการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเป็น 3 กรณี คือ 1.ในกรณีฐาน (Base Case) อาการที่เกิดจากเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง แม้ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ดี

ในกรณีนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงสุดเกือบ 1.1 หมื่นคนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่ระดับ 50 คน โดยคาดว่าในครึ่งปีแรกจะมีผู้ป่วยควิด-19 รวมทั้งสิ้น 8.8 แสนราย มีผู้เสียชีวิต 5,000 คนในช่วงเดียวกัน ทำให้ทางการต้องชะลอการผ่อนคลายมาตรการควบคุมออกไปบ้าง

2.กรณีเลวร้าย (Worse Case) อาการที่เกิดจากเชื้อโอมิครอนรุนแรงใกล้เคียงสายพันธุ์เดลต้า และระบาดง่าย แต่วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันอาการรุนแรงลดการติดเชื้อได้ โดยโอมิครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด อัตราการแพร่เชื้อที่สูง (Reproductive number เท่ากับ 5.2) ทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง

แม้วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ (ประมาณ 85%) แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจจะมีอาการรุนแรง (25% ของอัตราการเข้าโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลต้า) อัตราการเข้าโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าในกรณีฐาน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่เกือบ 1.6 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 100 คน ในกรณีนี้คาดว่าในครึ่งปีแรกจะมีผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย

ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) อาการที่เกิดจากเชื้อโอมิครอนรุนแรงใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลต้า ระบาดง่ายกว่า และวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 3.2 หมื่นราย และจำนวนผู้เสียชีวิตกลับมาอยู่ในระดับ 300 รายต่อวัน โดยในครึ่งปีแรกคาดว่าจะมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3.5 ล้านคนและผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3 หมื่นราย ทำให้ทางการต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2565

ดังนั้น โดยมาตรการที่มีความเข้มงวดและความกังวลต่อการระบาดทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไป จากแบบจำลองของวิจัยกรุงศรีพบว่าในกรณีฐาน ภาคท่องเที่ยวในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนการระบาดของโอมิครอนถึง 7.1% ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศปี 2565 จะลดลงเพียง 0.9% ส่วนในกรณีเลวร้ายและเลวร้ายที่สุด พบว่าภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง 21.7% และ 36.8% ตามลำดับ ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศจะลดลงเพียง 2.0% และ 3.2% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อรวมผลของทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม (ซึ่งวิจัยกรุงศรีใช้เป็นตัวแปรเพื่อเทียบเคียงกับ GDP ของเศรษฐกิจไทย) ในทั้งสามกรณีมีแนวโน้มลดลง 0.6%, 1.4% และ 3.0% ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ช้ากว่าที่เคยคาดเอาไว้ 1 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปี 2565 ออกไปอีก 1 ไตรมาสเป็นไตรมาส 1 ปี 2566