กสิกรไทย ชี้เป้าประกันสุขภาพครอบคลุม “โควิด-19” ควรเลือกแบบไหน

กสิกรไทยแนะนำวิธีดูประกันสุขภาพแบบไหนที่คุ้มค่าและครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงโรคระบาด-โรคร้ายแรง-โรคทั่วไป คาดการณ์โลกยังต้องเผชิญกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงโรคระบาดอื่น ๆ ถึงแม้จะมีวัคซีนที่ช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย ชี้ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล /Hospitel อาจเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาทำให้หลายคนที่สนใจทำประกันสุขภาพมากขึ้น

วันที่ 26 มกราคม 2565 นายวีระพล บดีรัฐ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า และ K WEALTH GURU ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า คนไทยที่เข้าข่ายได้รับการดูแลด้านค่ารักษาพยาบาลจากรัฐมีจำนวนรวมกว่า 17 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ถือบัตรทอง บัตรประกันสังคม ม.33 และ ม.39 ข้าราชการบำนาญ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจรวมทั้งคนในครอบครัว

โดยสิทธิการรักษาของภาครัฐถือได้ว่าเป็นสิทธิพื้นฐาน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเบิกได้ตามที่รัฐกำหนด อย่างไรก็ตาม ในช่วงการรักษาพยาบาล อาจเสียโอกาสจากการขาดรายได้ การทำประกันสุขภาพ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยให้มีเงินทุนครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ โดยปัจจุบันมีแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองโรคระบาด โรคร้ายแรง และครอบคลุมถึงโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งควรมีการตรวจสอบเงื่อนไขให้ชัดเจนเพื่อมั่นใจว่าจะได้รับประกันที่มีความคุ้มครองครบถ้วนตามที่ต้องการตัวอย่างแบบประกันและความคุ้มครองครอบคลุมรูปแบบการรักษาโควิดทุกสายพันธุ์ กรณีรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และกรณีรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก ในเครือข่ายโรงพยาบาลคู่สัญญา และในกรณีรักษาตัวนอกสถานพยาบาล ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองจากแบบประกัน 3 รูปแบบหลัก ได้แก่

1.แบบประกันที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในแบบเหมาจ่าย ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่ารักษาแบบเหมาจ่ายเมื่อนอนโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบอีลิท เฮลท์ และดีไลท์ เฮลท์

2.แบบประกันที่มีสัญญาเพิ่มเติมที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก ผู้เอาประกันจะได้รับวงเงินความคุ้มครอง กรณีไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบอีลิท เฮลท์ แผนที่ 2-4 หรือ สัญญาเพิ่มเติมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก สูงสุด 1 ครั้งต่อวัน และไม่เกิน 30 ครั้งต่อปี

3.แบบประกันที่มีสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ วงเงินแน่นอน ผู้เอาประกันจะได้รับเงินชดเชยรายวัน ตัวอย่างเช่น สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ วงเงินแน่นอน (Health Benefit Plus)

โดยขั้นตอนการเคลมประกัน คือ ผู้เอาประกันตรวจสอบสิทธิโดยแสดงบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ กรณีไม่ต้องสำรองจ่าย บริษัทประกันพิจารณาในระยะเวลา 30 นาที (เฉพาะเคสทั่วไป) จากนั้นรอรับ SMS แจ้งผลการพิจารณา ส่วนกรณีต้องสำรองจ่าย จะต้องเตรียมเอกสาร ใบเรียกร้องค่าชดเชยของบริษัท สำเนาใบรายงานแพทย์ของสถานพยาบาล ใบรายงานผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 RT-PCR ใบเสร็จรับเงินฉบับจริง และใบสรุปค่ารักษา และนำไปติดต่อยื่นเอกสารที่บริษัทประกัน

ทั้งนี้ ข้อแนะนำในการซื้อประกันสุขภาพความคุ้มครองครอบคลุมรูปแบบการรักษาโควิด-19 สามารถเลือกให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานตามความต้องการของแต่ละคน ได้แก่

– ประกันสุขภาพเหมาจ่าย เหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองครอบคลุมค่ารักษาที่เกิดขึ้นจริง ไม่ต้องสำรองจ่าย เช่น สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบอีลิท เฮลท์ และประกันชีวิตและสุขภาพ Delight Health

– ประกันสุขภาพแยกค่าใช้จ่าย เหมาะกับคนที่มีงบฯจำกัด หรือมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้วบางส่วน เช่น สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย (N) (Health Care Plus) หรือแบบที่มีความรับผิดส่วนแรก เช่น ประกันชีวิตและสุขภาพป่วยหายห่วง และประกันชีวิตและสุขภาพ Delight Health แผน Plus 1 หรือแผน Plus 2

– ประกันสุขภาพที่มีเงินชดเชยรายวัน เหมาะกับอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ เช่น สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบวงเงินแน่นอน (Health Benefit Plus)

นายวีระพลกล่าวตอนท้ายว่า การทำประกันสุขภาพเป็นเครื่องมือช่วยลดความเสี่ยง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบความคุ้มครองตามแผนประกันที่ต้องการ จะช่วยให้เงินค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปสามารถให้ความคุ้มครองตามที่คาดหวังและลดภาระให้ได้จริงเมื่อจำเป็นต้องใช้สิทธิ