ดอลลาร์ทรงตัว ตลาดจับตาความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/2) ที่ระดับ 32.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/2) ที่ระดับ 32.14/16 บาท โดยเช้าวันนี้ (21.2) ดอลลาร์สหรัฐทรงตัวขณะที่นักลงทุนจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความไม่แน่นอนและยังหาข้อสรุปไม่ได้ โดยเกรงว่าข้อพิพาทต่าง ๆ อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกได้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (21/2) ว่าสถานทูตสหรัฐในรัสเซียได้ออกแถลงการณ์เตือนชาวอเมริกันให้เตรียมแผนอพยพ โดยอ้างถึงภัยคุกคามจากการโจมตีในกรุงมอสโก และตามแนวชายแดนรัสเซียติดกับยูเครน โดยท่าทีดังกล่าวของสหรัฐทำให้เกิดเสียงตำหนิจากรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียตามมา

อย่างไรก็ตามมีข่าวว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน เห็นชอบจัดการประชุมร่วมกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งอาจเป็นความพยายามทางการทูตขั้นสุดท้าย เพื่อพลิกสถานการณ์มิให้รัสเซียยกพลบุกโจมตียูเครน ทั้งนี้ข่าวเรื่องความเป็นไปได้ของการประชุมแบบตัวต่อตัวระหว่าง ปธน.ไบเดนและ ปธน.ปูตินมีขึ้น ในขณะที่ทำเนียบขาวเตือนว่ารัสเซียอาจโจมตียูเครนได้ทุกเมื่อ โดยรัสเซียได้เสริมสรรพกำลังทางทหารตามแนวชายแดนตอนเหนือและตะวันออกของยูเครนตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีทหารรัสเซียตรึงกำลังกระหนาบยูเครนรวมทั้งสิ้นประมาณ 190,000 นาย

ด้านปัจจัยภายในประเทศสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4/64 ขยายตัว 1.9% จากที่ลดลง 0.2% ในไตรมาสที่ 3/64 เป็นผลจากความต้องการสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ GDP ปี 64 โต 1.6% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.2% และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% ซึ่งยังคงประมาณการเดิมของรอบที่แล้ว

โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัว 4.9% ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว 5.9% โดยดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุล 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 4.5% และ 3.8% ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อต่อไป เฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.5-2.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาด 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล อยู่ที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.5% ของ GDP ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.10-32.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (21/2) ที่ระดับ 1.1314/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/2) ที่ระดับ 1.1321/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงผันผวนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ออกมาเผยถึงรายละเอียดของมาตรการคว่ำบาตรที่รัสเซียจะต้องเผชิญหากรุกรานยูเครน โดยเธอระบุว่า รัสเซียจะโดนตัดขาดจากตลาดการเงินโลกและสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการ โดยจะมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรกับสินค้าจากยุโรปที่รัสเซียจำเป็นต้องใช้ในการทำให้เศรษฐกิจทันสมัยและมีความหลายหลายมากขึ้น ซึ่งรัสเซียไม่มีสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนได้

ทั้งนี้นางฟอน เตอร์ เลเยน ยืนยันว่าจะยังไม่มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรจนกว่ารัสเซียจะรุกรานยูเครน แม้ว่านายโวโลดีเมียร์ ซาเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มผู้นำชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียก่อนที่รัสเซียจะทำการบุกยูเครน ในระหว่างการประชุม ความมั่นคงที่เมืองมิวนิกของเยอรมนีเมื่อวันเสาร์ (19 ก.พ.) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1313-1.1388 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1356/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/2) ที่ระดับ 114.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/2) ที่ระดับ 115.02/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแข็งค่าในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.82-115.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.91/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ PMI ภาคการผลิตและบริการของเยอรมนีเดือน ก.พ. (21/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจาก CB (22/2), ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการของสหรัฐ (22/2), ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนีจาก IFO (22/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (24/2), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือน ม.ค. (25/2), ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคลพื้นฐานเดือน ม.ค.ของสหรัฐ (25/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.60/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -33.0/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ