ทิสโก้มองวิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน” กระทบวงจำกัด

ธนาคารทิสโก้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ชี้ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลกในวงจำกัด หลังพบ 2 ปัจจัยทำให้เหตุการณ์ไม่รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แถมสหรัฐจ่อยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน ฉุดราคาน้ำมันปรับฐาน กลับมาเทรดที่กรอบ 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ปรับตัวขึ้นแรงจากราว 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดือนมกราคมมาอยู่เหนือ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกุมภาพันธ์จากความกังวลต่อประเด็นความเสี่ยงที่รัสเซียจะบุกยูเครน

คมศร ประกอบผล

ซึ่งอาจทำให้มีการตอบโต้จากประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐ และสหภาพยุโรป โดยปัจจุบันรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับสองของโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ไปยังยุโรป ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามจึงเป็นความเสี่ยงต่ออุปทานพลังงานโลกที่ตลาดจับตาอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่าความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบจำกัดต่ออุปทานน้ำมันดิบโลก จาก 2 เหตุผล ได้แก่

ประการแรก ยุโรปกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก จึงไม่น่าเลือกใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานเพื่อตอบโต้รัสเซีย เพราะหากคว่ำบาตรไม่นำเข้าพลังงานจากรัสเซียจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจยุโรปเป็นอย่างมาก

และประการที่สอง มาตรการคว่ำบาตรสินค้าพลังงานที่ผ่านมา คาดว่าส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียอย่างจำกัด โดยในปี 2557 สหรัฐ และยุโรปคว่ำบาตรบริษัทพลังงานของรัสเซีย เพื่อตอบโต้การบุกเข้ายึดครอง Crimea แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียลดลงแค่เล็กน้อย และกระทบในระยะสั้นเพียงเดือนแรกเท่านั้น อีกทั้งการผลิตน้ำมันของรัสเซียได้ฟื้นตัวกลับมามากกว่าระดับก่อนการคว่ำบาตรภายในเวลาเดือนเดียวหลังจากนั้น เนื่องจากรัสเซียสามารถส่งน้ำมันดิบไปขายในตลาดอื่น ๆ ได้

นอกจากนั้น ราคาน้ำมันดิบมีความเสี่ยงปรับฐานแรง หากสหรัฐยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐ และอิหร่าน ดูมีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากสหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน ซึ่งทำให้ความเป็นไปได้ที่การเจรจาจะได้ข้อสรุปในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าเพิ่มสูงขึ้น

อีกทั้งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐยังมีแรงจูงใจที่จะเจรจาให้สำเร็จมากขึ้น เพื่อลดราคาพลังงานและแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความนิยมของประธานาธิบดี รวมถึงพรรค Democrat ลดลง
หากการเจรจาประสบผลสำเร็จ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้คาดว่า อิหร่านจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้อย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI กลับมาเทรดอยู่ในช่วง 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล