ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังตลาดผิดหวังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 11-15 ธันวาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตาดในเช้าวันอังคาร (12/12) ที่ 32.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/12) ที่ 32.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (8/12) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาสหรัฐ ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว โดยการลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐ มีงบฯในการบริหารประเทศไปจนถึงวันที่ 22 ธันวาคม และจะช่วยให้สมาชิกสภาคองเกรสมีเวลามากขึ้นในการพิจารณางบประมาณของปีถัดไป ขณะที่กระทรวงแรงงานของสหรัฐ ได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่ง โดยลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 244,000 ตำแหน่ง แต่ยังสูงกว่าระดับคาดการณ์ อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงแสดงความกังวลหลังอัตราค่าเงินเฉลี่ยต่อชั่วโมงของแรงงานสหรัฐ ที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จากที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ในวันอังคาร (12/12) กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนพฤศจิกายน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการจัดขึ้นในวันอังคารและวันพุธ (12-13/12) นั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.25%-1.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2561 และปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2562 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ทั้งนี้ยังแสดงความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นจะยังคงชะลอตัวอยู่ แต่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในระยะกลาง อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงผิดหวังกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน (Core CPI) นั้น ยังขยายตัวต่ำกว่าระดับคาดการณ์ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนพฤศจิกายน ในคืนวันพฤหัสบดี (14/12) ค่าเงินดอลลาร์เริ่มมีแรงซื้อกลับหลังจากตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายนนั้นขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสูงกว่าระดับคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ได้รับแรงหนุนจากแรงซื้่อภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจำประเทศไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2560 เป็นขยายตัว 3.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% และจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในระดับเดียวกันที่ 3.8% ในปี 2561 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 3.6% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ ADB ระบุว่า การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีบาทบาทสำคัญสำหรับเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ขณะเดียวกัน อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนและการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนการเติบโตในภูมิภาค โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.43-32.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินเปิดตลาดในวันอังคาร (12/12) ที่ระดับ 1.1777/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/12) ที่ระดับ 1.1737/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีในช่วงต้นสัปดาห์ความล่าช้าในการเจรจาเพื่อออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) นั้นยังคงกดดันค่าเงินยูโรอยู่ ในระหว่างสัปดาห์สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนตุลาคม ในวันพฤหัสบดี (14/12) สำหรับผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นั้นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.0% เช่นเดิม โดยได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในยุโรปในปี 2560 จากระดับ 2.2% เป็น 2.4% และในปี 2561 จากระดับ 1.8% เป็น 2.3% นอกจากนี้ยังมีการปรับมุมมองของเงินเฟ้อให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีการแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางยุโรป นายมาริโอ ดรากี นั้นยังแสดงความกังวลกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะสั้น ซึ่งทำให้นักลงทุนเทขายทำกำไรค่าเงินยูโรออกมา นอกจากนี้อีซีบียังคงมุมมองเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นเดิม โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังการยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ในช่วงปลายปีหน้า สำหรับตัวเลขประมาณการดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการคผลิตในเดือนธันวาคมนั้นอยู่ที่ระดับ 60.6 สูงกว่าระดับคาดการณ์ ขณะที่ตัวเลขเดียวกันในภาคการบริการนั้นออกมาอยู่ที่ระดับ 56.5 สูงกว่าระดับคาดการณ์เช่นกัน ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1716-1.1862 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตัวที่ระดับ 1.1782/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเปิดตลาดในวันอังคาร (12/12) ที่ระดับ 113.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/12) ที่ระดับ 113.52/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันศุกร์ (8/12) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 เป็น 2.5% ซึ่งสูงกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ 1.4% นอกจากนี้สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันอังคาร (12/12) ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภค ปรับตัวขึ้น 5% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 8.509 แสนล้านเยน (7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้ปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นของอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือประเภทอื่น ๆ ในภาคการผลิต ขณะที่ในวันศุกร์ (15/12) ดัชนีภาคการผลิตของสถาบัน Tankan นั้นอยู่ที่ระดับ 25.0 ในเดือนธันวาคม สูงกว่าระดับคาดการณ์ซึ่งแสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.05-113.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ